ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในสังคมปัจจุบันนั้นการศึกษาได้เข้ามามีบทบาทและเป็นโครงสร้างที่สำคัญของสังคมอย่างไม่อาจหลีกหนีได้ ชนิดที่ว่าหากจะให้สังคมเป็นไปในทิศทางใดก็ให้ดูจากพื้นฐานทางการศึกษาของสังคมนั้น ๆ และด้วยความสำคัญของการศึกษาที่มีส่วนในการพัฒนาสังคมนี้เอง จึงทำให้เทคโนโลยี Blockchain กลายเป็นหนึ่งในระบบที่อาจถูกนำเข้ามาปรับใช้ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แล้วหากเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นผลดีในทิศทางใดบ้าง
หลุมดำของระบบการศึกษา กับสิ่งที่ยังไม่อาจก้าวข้าม
หากกล่าวถึงระบบการศึกษาในปัจจุบันที่ยังคงเป็นปัญหา “คาราคาซัง” ชนิดที่ผ่านมานานแค่ไหนก็ยังไม่อาจก้าวข้ามได้นั้น ก็คงจะหนีไม่พ้น “ความสำเร็จ” ที่วัดได้จาก “คุณภาพ” ของ “ผู้ที่จบการศึกษา” แทบทั้งสิ้น ซึ่งหากลองไล่เรียงดูจากต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น โดยส่วนมากแล้วก็มักมาจากความหละหลวมที่ไม่อาจแก้ไขในระบบการศึกษาได้ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
หากมองในมุมของการทำงานที่ต้องใช้ใบปริญญาเข้าไปยื่นสมัครงาน กลับกลายเป็นว่าในใบปริญญาก็ไม่ได้การันตีได้เลยว่าคนคนนั้นมีความรู้ ทักษะ และความสามารถ ที่ตรงตามความต้องการขององค์กร เพราะสิ่งที่ปรากฎให้พอใช้พิจารณาเข้าทำงานก็คงมีแค่รายวิชาที่เรียนกับเกรดที่ปรากฎในใบรับรองการศึกษาเท่านั้น ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเอกสารต่าง ๆ ที่บุคคลนั้นนำมายื่นสมัครงานมี “ความโปร่งใส” และ “ความถูกต้อง” มากน้อยเพียงใด เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ยื่นมาก็คือกระดาษแผ่นหนึ่งที่สามารถปลอมแปลงข้อมูลขึ้นมาได้โดยที่อาจไม่มีใครรู้ หากไม่ไปตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดเสียก่อน
แพลตฟอร์มที่สำคัญของ Blockchain กับการปฏิรูปรากเหง้าของระบบการศึกษา
จากลักษณะและการทำงานของ Blockchain ที่มุ่งเน้นในเรื่องของ “ความโปร่งใส” และ “ความถูกต้อง” ของข้อมูลนี้เอง ที่ทำให้หลาย ๆ ภาคส่วนมองว่า การนำเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลอย่าง Blockchain มาใช้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยปฏิรูปการศึกษาในสังคมได้ไม่ใช่น้อย เรียกว่าต่อให้ปัญหาไม่ได้หมดไป แต่อย่างน้อยหลุมดำที่เคยมีก็อาจจะลดขนาดของความลึกได้อย่างแน่นอน ซึ่งจากกระบวนการทำงานของ Blockchain ที่เปรียบเสมือนโซ่ที่ร้อยเรียงต่อกันเป็นห่วง ๆ ที่มีความเหนียวแน่นและเป็นขั้นเป็นตอนที่ชัดเจนนี้เอง ทำให้ Blockchain กลายเป็นกระบวนการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาของระบบการศึกษาได้อย่างตรงจุด เพราะหากลองดูจากปัญหาที่เด่นชัดที่สุดก็คือ ไม่ว่าผลการเรียนจะดีหรือแย่แค่ไหนแต่ถ้าขึ้นชื่อว่า “ผ่าน” สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผลการเรียนที่ครูแต่ละคนให้คะแนนมานั้นผ่านการ “หลับหูหลับตา” หรือมาจากความตั้งใจและตั้งมั่นของผู้เรียนกันแน่ เพราะฉะนั้น หากนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในบทบาทการศึกษาได้จริง การให้คะแนนและผลการประเมินของครูผู้สอนก็จะมีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะหากจะแก้ไขข้อมูลของผู้เรียนคนใดคนหนึ่งจริง ก็จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น เพราะพื้นฐานของ Blockchain เองก็มีการป้องกันการแก้ไขที่ทำได้ง่ายเอาไว้อยู่แล้ว
ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคะแนนเพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือแม้แต่การยื่นเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประวัติการศึกษาเพื่อสมัครงานในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เทคโนโลยี Blockchain ก็จะสามารถมารองรับข้อจำกัดในส่วนนี้ได้ ตั้งแต่ความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมด การตรวจสอบประวัติผ่านไฟล์ข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์จากฐานข้อมูลของ Blockchain หรือแม้แต่การพิจารณาทักษะและความสามารถอื่น ๆ ที่มาจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน ก็สามารถอัปเดตลงบนฐานข้อมูลของ Blockchain ได้ทันที โดยที่ยังคงความเป็นส่วนตัวเอาไว้ได้อยู่ เพราะอย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันการศึกษาไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากในห้องเรียนและผลการประเมินจากสถาบันการศึกษาเท่านั้น หากแต่สามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหากนำ Blockchain มาใช้ได้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งนอกและในห้องเรียน ก็จะกลายเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของ Blockchain ที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางที่เรียกว่า “แผ่นกระดาษ” อีกต่อไป
ผลิตผลที่เรียกว่า “สินค้า” กับบทบาทการเป็น “แรงงาน” ในอุตสาหกรรม
แน่นอนว่า ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามที่ผ่านการอยู่ในระบบการศึกษามาก่อน ท้ายที่สุดแล้วก็คงจะหนีไม่พ้นการเป็น “ผลผลิต” ที่คล้ายกับ “สินค้า” ของสถาบันการศึกษานั้น ๆ ซึ่งหากมองในแง่ของห่วงโซ่อุปทานแล้ว ระบบการศึกษาก็เสมือนกับโรงงานที่ผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งออกมาสู่ตลาด โดยสินค้าแต่ละชนิดก็จะมีความต้องการและประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นสินค้าที่มาจากโรงงานคุณภาพระดับสากล ก็จะมีราคาค่าตัวที่สูง แต่หากเป็นสินค้าที่มาจากโรงงานที่ไม่ได้มีมาตรฐานก็จะมีราคาค่าตัวที่ถูก
เฉกเช่นเดียวกับนักเรียนนักศึกษา ที่เมื่อจบการศึกษาจากสถาบันใด ๆ มาแล้ว ก็จะกลายเป็น “ผลิตผล” ของสถาบันการศึกษานั้น ๆ และก็จะเข้าสู่วงโคจรที่เรียกว่า “แรงงาน” ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยกตัวอย่างก็คือ ต่อให้เป็นนักศึกษาแพทย์จะเก่งมากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อจบมาบทบาทแรงงานที่ต้องเผชิญก็คือการเป็นแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพราะฉะนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นเดียวกันว่า ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใด ๆ ก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ตลาดต้องการก็คือการได้มาซึ่ง “คุณภาพ” ของ “บุคลากร” นั่นเอง
เพราะฉะนั้น เมื่อ Blockchain เข้ามามีบทบาทในระบบการศึกษาแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นในทันทีก็คือ รูปแบบของตลาดแรงงานที่ถูกเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่เหล่าองค์กรหรือกลุ่มตลาดนั้น ๆ จะต้องเฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสมและมีคุณสมบัติที่ต้องการจากการวิเคราะห์โดยใช้หลักฐานทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ใบปริญญาบัตร Transcript หรือแม้แต่ Resume เพื่อคัดเลือกคนเข้ามาสู่องค์กร ก็จะกลายเป็นว่า สามารถดึงข้อมูลจาก Blockchain มาพิจารณาได้ทันที โดยใช้ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากการวิเคราะห์ของข้อมูลมาเป็นตัวตัดสิน ซึ่งนอกจากจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใสแล้ว ยังช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่สำคัญได้ด้วย อย่างเช่น ทักษะและความสามารถพิเศษ ซึ่งก็จะเป็นการง่ายที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลโดยการโทรเช็กตามสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องเหมือนที่ผ่าน ๆ มา และที่สำคัญคือ สามารถมั่นใจได้ว่าปัญหาเรื่องการปลอมแปลงเอกสารจะไม่เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลอย่าง Blockchain จะสามารถตอบโจทย์และช่วยปฏิวัติการศึกษาได้จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ การนำระบบ Smart Contract เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ยังคงคาราคาซังอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในระดับสถาบันการศึกษาหรือแม้แต่การป้อนผู้ที่สำเร็จการศึกษาให้เข้าสู่ตลาดแรงงาน และแน่นอนว่า หาก Blockchain ถูกนำมาใช้ได้จริงในอนาคตอันใกล้นี้ ก็น่าจะมั่นใจได้ว่าปัญหาเรื่องสังคมที่ยังขาดสเถียรภาพจะหมดไป เพราะแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะไม่ใช่แค่ “การจับวาง” เท่านั้น แต่จะกลายเป็น “การคัดเลือก” ที่มาจาก “ความเหมาะสม” และ “คุณภาพ” อย่างแท้จริง