ในยุคที่มนุษย์ถูกหลอมรวมกับเทคโนโลยีจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักหรือคุ้นหูกับเทคโนโลยีที่เสมือนว่าเป็นร่างโคลนนิ่งของมนุษย์ในเวอร์ชันคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกกันว่า “AI” อย่างแน่นอน เพราะนับตั้งแต่ที่ “AI”ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความก้าวหน้าให้กับเทคโนโลยีนั้น การดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็เหมือนจะถูกตรีงเอาไว้ด้วย “AI” แทบจะทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่บทบาทการเป็นแม่สื่อในการสานสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาวในสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ “AI”แบบง่าย ๆ พร้อมอธิบายการก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีด้วยการเลือกคู่ครองที่ปราศจากวัฒนธรรมการคลุมถุงชนเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา
การพัฒนา AIกับการก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยี
นับตั้งแต่ที่ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ของสังคมโลกในปัจจุบัน ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ก็ได้แปรเปลี่ยนไป ราวกับว่าโลกแห่งอนาคตที่มักเห็นตามภาพยนตร์ได้คืบคลานเข้ามาใกล้มากขึ้นทุกวินาที
เฉกเช่นเดียวกับการพัฒนากระบวนการทำงานของโปรแกรมที่เหล่านักพัฒนาระบบ ได้ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ให้คล้ายกับมนุษย์มากที่สุด เพียงแต่อยู่ในเวอร์ชันของคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น โดยความสามารถของ AIเรียกว่าแทบจะเป็นการโคลนนิ่งมาจากความสามารถของมนุษย์เลยก็ว่าได้ แตกต่างกันตรงที่ทำงานได้เร็วและอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องมีเวลาพักเหมือนกับมนุษย์ ซึ่งขีดความสามารถของ AI ก็จะคล้าย ๆ กับการทำงานของสมองมนุษย์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การคิดวิเคราะห์ การวางแผน การตัดสินใจ และการเรียนรู้ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า Machine Learning
โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ก็คือขีดความสามารถที่มนุษย์มีอยู่ในตัวเองมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ความสามารถและศักยภาพก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับ AIที่สามารถพัฒนาและเพิ่มศักยภาพได้อย่างไม่มีข้อจำกัด แต่หากจะมองว่าAI ยังอยู่ไกลตัวนักก็คงจะต้องคิดกันเสียใหม่ เพราะในปัจจุบัน AI ถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการที่เข้ามาแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกอณูของคำว่าเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ สมมติว่า ในทุก ๆ วันศุกร์เวลา 18.00 น. คุณมักจะไปเดินช้อปปิ้งที่ Siam Paragonแล้ววันดีคืนดีหน้า Feedของ Facebook ของคุณก็มีร้านค้าที่กำลังเซลล์เสื้อผ้าอยู่70% โผล่มาให้เห็น ที่สำคัญยังเป็นร้านที่ตั้งอยู่ในสยามพากอนอีกต่างหาก นั่นแสดงให้เห็นว่านี่คือหนึ่งในกระบวนการทำงานของ AI ที่มาจากการสังเคราะห์ข้อมูลให้สามารถเชื่อมเข้าหากันได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเลือกใช้ข้อมูลจาก “ตำแหน่งที่ตั้ง” ที่เปิดใช้งานในสมาร์ทโฟนหรือแม้แต่ข้อมูลการ Check in ตามสถานที่ที่เคยไปมาวิเคราะห์และประมวลผลจนเกิดเป็นผลลัพธ์ดังกล่าว
วิถีการเลือกคู่ครองกับวัฒนธรรมการคลุมถุงชน
แน่นอนว่า หนึ่งในวัฒนธรรมและแนวทางการปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของคนไทยนั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นการหาคู่ให้ลูกหลานด้วยวิธีที่เรียกว่า “การคลุมถุงชน” ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่หลายครัวเรือนนิยมกัน แม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีให้เห็นบ้าง ซึ่งการเลือกคู่ครองโดยวิธีการคลุมถุงชนนั้น ก็เปรียบเสมือนกับการเลือกหาคนที่คิดว่า “ดีที่สุด” และ “เหมาะสมที่สุด” มาเจอกัน โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่เป็นผู้นำพาหญิงสาวกับชายหนุ่มที่โสดและอยู่ในสังคมแบบเดียวกันให้มาพบปะพูดคุยตลอดจนแต่งงานอยู่กินแบบฉันสามีภรรยา และที่น่าสนใจก็คือ วิธีการเลือกให้คนทั้งสองคนได้มาเป็นคู่กันนั้น มักจะผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจจากข้อมูลของผู้ใหญ่ที่เห็นดีเห็นงามว่าทั้งสองฝ่ายเหมาะที่จะเป็นทองแผ่นเดียวกัน จึงนำมาสู่วิถีการเลือกคู่ครองให้กับลูกหลานของตนเอง หรือก็คือ “คลุมถุงชน”
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเทคโนโลยีเองก็เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่เอื้อต่อความต้องการของมนุษย์ โดยเฉพาะการเลือกคู่ของคนสมัยใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ก็เปรียบเสมือนการเป็นสะพานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว อาจจะมาในรูปแบบของเว็บบอร์ดหาคู่ แอปพลิเคชันสำหรับหาคู่ออกเดท ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบสนองความต้องการด้านการเลือกคู่ครองด้วยตนเองของมนุษย์ จากเดิมที่ใช้มนุษย์ด้วยกันเองเป็นสื่อกลาง ก็กลายเป็นว่าให้เทคโนโลยีเข้ามาทำหน้าที่แทน เพียงแค่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลเข้าหากันเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ได้อย่างตรงจุด
นวัตกรรมการสานสัมพันธ์ด้วย AIกับการสร้างเนื้อคู่จากเทคโนโลยี
จากที่กล่าวมาแล้วว่าAIนั้น ก็เปรียบได้กับมนุษย์หนึ่งคนในภาคของโปรแกรมที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มนุษย์ทำได้ AI ก็สามารถทำได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับการเลือกคู่ครองของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยแม่สื่อแม่ชักที่เป็นมนุษย์อีกต่อไป เพียงแค่มีตัวนำพาที่ง่าย สะดวกสบาย รวดเร็ว และตรงตามความต้องการก็นับว่าเพียงพอ
เพราะฉะนั้น การพัฒนา AI ให้มาเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สามารถเลือกคู่ครองให้กับมนุษย์ได้จึงเป็นสิ่งที่นักพัฒนาระบบหลาย ๆ คนเลือกที่จะหยิบยกมาทำให้สำเร็จ เพราะหากลองวิเคราะห์ในเชิงชีววิทยาแล้ว เราต่างก็รู้ดีว่ามนุษย์ก็เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์จากการสืบพันธุ์เป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุดก็คือการมีคู่ครอง เพียงแต่เพิ่มความต้องการให้สูงมากขึ้นตามจินตภาพที่วาดเอาไว้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการตั้งสเปกของคู่ครอง ไม่ว่าจะเป็น อายุ หน้าตา หน้าที่การงาน ไลฟ์สไตล์ สิ่งที่ชื่นชอบ ตลอดจนที่อยู่อาศัยที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งง่ายต่อการนัดเดทหากรู้สึกถูกอกถูกใจกัน เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการสร้างเนื้อคู่จากเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้
ขีดจำกัดของมนุษย์กับการบทบาทแม่สื่อแม่ชักของAI
หากกล่าวถึงข้อจำกัดในของมนุษย์ในการเลือกคู่ครองนั้น ก็คงจะหนีไม่พ้น “ปริมาณ” และ “คุณภาพ” ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวก็คือ ต่อให้รู้จักกับคนในสังคมค่อนข้างมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าใจและรู้ไปถึงก้นบึ้งของตัวบุคคล เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับใคร มนุษย์ก็จะต้องเรียนรู้และศึกษาอีกฝ่ายก่อน เพื่อตัดสินใจว่าท้ายที่สุดแล้วบุคคลนั้นควรจะไปต่อด้วยกันหรือควรที่จะหยุดความสัมพันธ์เอาไว้เสียดีกว่า
แน่นอนว่า กว่าที่มนุษย์จะเรียนรู้และศึกษาดูใจกันให้ละเอียดถี่ถ้วน ก็คงจะกินเวลานานพอสมควร ไม่ต่างกับการเปิดคอร์สเรียนหนังสือเสียเท่าใดนัก หากโชคดีได้เจอคนที่เข้ากันได้ในทุก ๆ ด้าน ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนรู้ใครใหม่ แต่หากโชคร้ายก็คงจะต้องไปตามหาเนื้อคู่คนใหม่ที่ก็ไม่รู้อีกอยู่ดีว่าจะเป็นใคร และท้ายที่สุดก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะลงเอยแบบไหน แถมคนบนโลกที่ยังโสดก็มีไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ จะไปนั่งหาและเรียนรู้เป็นรายคนก็คงจะกินเวลาหลายพันปีไม่ใช่น้อย หรือต่อให้มีคนกลางที่ทำหน้าที่เป็นแม่สื่อหรือพ่อสื่อพาไปรู้จักกับคนที่คิดว่าเหมาะสม และอาจจะคลิกกัน ก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามที่หวัง เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มให้กับปัญหาดังกล่าวนี้ ก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีโดยการใช้กระบวนการที่เรียกว่า AIให้มาทำหน้าที่เป็นแม่สื่อหรือพ่อสื่อนั่นเอง
สำหรับข้อดีในการนำ AIมาสวมบทบาทเป็นแม่สื่อนี้ก็คือ ความสามารถในการดึงข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกมา “จัดหมวดหมู่” แล้ว “พยากรณ์” เพื่อ “วิเคราะห์ผล” แล้วนำไป “แสดงผล” ให้กับตัวบุคคลที่มีความคล้ายคลึงกันได้มาเจอกันเพียงแค่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่าง แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่เปรียบเสมือนสังคมขนาดย่อม ๆ จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ “จำนวนของประชากรที่ใช้งาน” โดยประชากรแต่ละคนก็จะมีข้อมูลส่วนตัวที่ระบุเอาไว้ในฐานข้อมูล นับตั้งแต่การลงทะเบียนใช้งาน การอัปเดตโปรไฟล์ การใช้ชีวิต การทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเป็นประจำ ไปจนถึงการแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานง่าย ๆ ที่ AI เลือกใช้
ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ที่กล่าวมาในข้างต้น ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นเพียงการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งานในระบบเท่านั้น หากแต่แท้จริงแล้วนี่คือ “ข้อมูลสำคัญ” ที่จะบันทึกเอาไว้ในระบบ โดยมีลักษณะเหมือนกับว่าเป็นห้องสมุดขนาดย่อม ๆ โดยหน้าที่ของ AIก็คือ การนำข้อมูลเหล่านี้มาเรียนรู้และวิเคราะห์แบบละเอียด เพื่อคัดกรองกลุ่มก้อนข้อมูลที่มีความใกล้เคียงกันมาอยู่ด้วยกัน แล้วแสดงผลในลักษณะของการแนะนำเพื่อนหรือคู่ครองให้กับเหล่าหนุ่มโสดสาวโสดที่กำลังตามหารักแท้อยู่ เรียกว่าเป็นการทำหน้าที่แม่สื่อของ AI ก็ย่อมได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจหากวันดีคืนดีคุณได้ไปออกเดทแล้วรู้สึกคลิกกับคนคนนั้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ดูจะเข้ากันไปเสียหมด เพราะนี่คือการคัดกรองคนที่มีความเข้ากันจากการวิเคราะห์ของ AI ที่เป็นแม่สื่อในการช่วยสานความสัมพันธ์ให้กับคนสองคนนั่นเอง
อนาคตอันใกล้กับการหลอมรวมกันระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์
จากความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่เรียกกันว่าAIนี้ นับว่าเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่ส่งผลต่อมวลมนุษยชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการหลวมรวมมนุษย์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต ซึ่งคำถามต่อมาก็คือ ท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีกับมนุษย์จะเป็นไปในทิศทางใดได้บ้างในอนาคตอันใกล้นี้
ซึ่งหากลองมองย้อนกลับไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว จะเห็นได้ว่า ในทุก ๆ วินาที ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อนำมาอำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่จะทำให้มนุษย์กับคอมพิวเตอร์หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกง่าย ๆ ว่า “สายสื่อประสาท” หรือ “Threads” โดยหน้าที่ของสายสื่อประสาทนี้ ก็คือการรวมสมองของมนุษย์ให้เข้ากันกับคอมพิวเตอร์ด้วยการฝังสายสื่อประสาทที่ช่วยรับ-ส่ง ข้อมูลให้แก่กัน ซึ่งหากเทคโนโลยีดังกล่าวนี้สำเร็จและสามารถใช้ในแวดวงของเทคโนโลยีได้เหมือน ๆ กับAI แล้ว ก็เป็นที่น่าสนใจว่าในอนาคตหากเราคิดอะไรก็ตาม สายสื่อประสาทก็จะส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ และระบบ AI ก็อาจจะนำสารนั้นเข้าไปประมวลผลจนออกมาเป็นผลลัพธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป
ยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ เช่น การหาคู่ครองในมุมของ AI จะเป็นการพยากรณ์จากตัวฐานข้อมูลที่มีอยู่ในระบบ เพื่อดึงให้คนที่มีความชอบหรือมีไลฟ์สไตล์คล้าย ๆ กันมาเจอกันได้ง่ายมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนสองคนเท่านั้น หากแต่เป็นกลุ่มคนที่ถูกพยากรณ์เอาไว้แล้วว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ในขณะที่สายสื่อประสาทจะทำหน้าที่ตั้งแต่รับข้อมูลไปจนถึงหาข้อมูลที่ตรงตามความต้องการมาให้ อย่างเช่น ชายอเมริกันซึ่งเป็นหนุ่มโสด อายุราว ๆ 40 ปี มีแผนที่จะมาทำงานและใช้ชีวิตในระยะยาวที่เมืองไทย แถมยังอยากจะหาคู่ชีวิตที่เป็นสาวไทยอายุไม่เกิน 35 ปีสักคน เมื่อคิดได้แล้วสายสื่อประสาทก็ทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผล และค้นหาสาวไทยที่อยู่ในเกณฑ์ที่เขาต้องการมาให้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มสังคมโซเชียลที่ใช้จะเป็นอะไร หากเป็น Facebook ก็อาจจะมาในรูปแบบของการแนะนำเพื่อน หรือหากเป็น Tinder ก็มักจะเป็นในรูปแบบของการปัดเพื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์
ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยี AI จะทำหน้าที่แค่หาคู่ครองให้กับเหล่าหนุ่มโสดสาวโสดเท่านั้น หากแต่ยังสามารถทำหน้าที่ในมุมอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการนำมาสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเอื้อต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่การประกอบอาชีพ การทำงานของเครื่องจักร การทำธุรกิจ การวางแผนระบบทางการเงิน ซึ่งในอนาคตไม่ว่าเทคโนโลยีจะเดินไปในทิศทางใด ก็นับว่าเป็นทางที่ถูกปูไปด้วยระบบความคิดของมนุษย์แทบจะทั้งสิ้น และท้ายที่สุดแล้วเมื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์จริง ก็อาจจะเป็นหนทางที่ช่วยให้มนุษย์ได้มีโอกาสใช้ชีวิตที่หลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ก็ย่อมได้