นับตั้งแต่ที่เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลของ Blockchain ได้เข้ามาเป็นโมเดลสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ นั้น ก็ทำให้ทั่วโลกหันมาศึกษาและนำ Blockchain มาใช้อย่าง “เอาจริงเอาจัง” กันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ด้านสาธารณสุข ที่ก็เริ่มนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนา Smart Contract ให้มีบทบาททางการแพทย์อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่าในอนาคตวงการทางการแพทย์จะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะดีแบบสุดโต่งหรือจะดิ่งลงเหวเพราะการพัฒนาที่ยังไม่ตอบโจทย์ในด้านนี้กันแน่
จุดบอดของการบริการด้านการแพทย์ที่ยังไม่อาจก้าวข้ามได้
เชื่อว่าหลายครั้งที่ผู้ใช้บริการทางการแพทย์ต้องอยู่ในสภาวะการ “จำยอม” และไม่อาจ “หลีกหนี” ได้ ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างของตนเอง โดยเฉพาะสถานภาพทางการเงินที่ส่งผลต่อการเลือกใช้บริการทางการแพทย์ ซึ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์ที่คนไทยต้องประสบพบเจอแล้ว จะเห็นได้ว่าปัญหาที่มักเกิดขึ้นและเป็นเนื้อร้ายอยู่ตอนนี้ก็คือ การที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างที่ต้องการ ยังไม่นับรวมปัญหาอื่น ๆ ที่โรงพยาบาล ไม่อาจแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยได้เสียที โดยเฉพาะการให้บริการแก่ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น การจ่ายยา การใช้ข้อมูลทางด้านเวชระเบียน ความถูกต้องของการรักษา ตลอดจนการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่และพร้อมกว่า
ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระบบสาธารณสุขของไทยเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ อีกไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปีก็ยังไม่อาจก้าวข้ามไปได้ ต่อให้โลกจะพัฒนาไปไกลเท่าใดก็ตาม เช่นเดียวกับบริการด้านสาธารณสุขในประเทศไทยที่นับวันก็จะมีแต่จุดบอดที่ผู้รับบริการหลาย ๆ คนไม่อาจหลีกหนีได้และก็ยังคงต้องก้มหน้ารับชะตากรรมต่อไปตราบใดที่ระบบการจัดการของสาธารณสุขยังคงเป็นเช่นเดิมอยู่อย่างนี้
เชื่อว่าหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และมักโดนตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งก็คือ การเข้ารับบริการของผู้ป่วยแผนกฉุกเฉินที่ต้องให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ ทั้งที่อาการที่เป็นอยู่นั้นส่อแววว่าสุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหากลองดูข่าวคราวที่ปรากฎให้เห็นตามสื่อต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น หากแต่มีมาให้เห็นอยู่เป็นระลอก จนทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามอยู่เสมอว่าระบบการจัดการของโรงพยาบาลในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ ทำไมถึงไม่สามารถบริหารจัดการได้ ทั้งที่ก็มีผู้ป่วยอีกไม่ใช่น้อยที่รอเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จนแทบจะเหมือนนอนรอความตายอยู่รอมร่อ
นอกจากนี้ ปัญหาเล็ก ๆ อย่างเรื่องของข้อมูลประวัติผู้ป่วยและเวชระเบียนเองก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่ทำให้การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ล่าช้าอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งการติดตามการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ในงานวิจัยทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเบิกจ่ายยาซ้ำซ้อนและไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของยาที่นำจ่ายให้กับผู้รับบริการได้ แน่นอนว่า นี่คือปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ยังไม่อาจแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนให้เป็นในทิศทางที่ดีขึ้นได้ จนกลายเป็นจุดบอดที่ชัดที่สุดของระบบสาธารณสุขในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
การพัฒนา Blockchain สู่การต่อยอด Smart Contract ด้านสาธารณสุข
แน่นอนว่า จุดเด่นของ Blockchain นั้น ก็คือการเป็นเทคโนโลยีที่ใช้จัดเก็บข้อมูลที่ “ปลอดภัย” และ “โปร่งใส” ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะการทำงานของ Blockchain ก็คือการเก็บข้อมูลโดยร้อยเรียงต่อกัน ซึ่งแต่ละห่วงโซ่ก็จะเก็บข้อมูลของห่วงก่อนหน้าเอาไว้ทั้งหมด ในขณะที่หากมีการแก้ไขข้อมูลก็จะต้องเป็นผ่าน “การยอมรับ” และ “ยินยอม” โดยที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และต่อให้มีการแก้ไขข้อมูลขึ้นจริงก็มักจะมีข้อมูลชุดใหม่ที่ระบุการแก้ไขทั้งหมดรวมกับชุดข้อมูลก่อนหน้าเอาไว้อยู่เสมอ เรียกว่าต่อให้อยากแก้ไขก็ค่อนข้างทำได้ยากนั่นเอง และด้วยโมเดลของ Blockchain ที่มีลักษณะดังกล่าว จึงทำให้หลาย ๆ ภาคส่วนเลือกที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ เพื่อยกระดับ “ความโปร่งใส” ให้มากที่สุด
ซึ่งหากลองมองในมุมของงานด้านสาธารณสุขแล้ว การนำ Blockchain เข้ามาใช้ ก็เป็นหนึ่งในทิศทางที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพราะนั่นหมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและรวดเร็ว เพราะทุกอย่างจะกลายเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แทบจะทั้งหมด ตั้งแต่ข้อมูลของผู้รับบริการ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบแจ้งเกิด ไปจนถึงประวัติการรักษาและการสั่งจ่ายยา ที่สำคัญคือ Blockchain จะช่วยให้ติดตามการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง เพราะไม่ว่าจะเป็นการรักษาอะไร จะเกี่ยวข้องกับการรักษาในขณะนั้นหรือไม่ ข้อมูลทุกอย่างก็จะปรากฎขึ้นมาโดยใช้ Blockchain เป็นตัวนำทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน ข้อมูลที่อยู่ในระบบก็ยังคงความเป็นส่วนตัวเอาไว้เพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้โดยพลการ ทั้งที่เจ้าของข้อมูลยังไม่ได้ยินยอมแต่อย่างใด
แต่ที่น่าสนใจก็คือ การพัฒนา Blockchain ในภายหลังได้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการเขียนโปรแกรมที่เรียกกันว่า Smart Contract ขึ้นมา เรียกว่าเป็นการพัฒนาที่นำ Blockchain มาต่อยอดให้เกิดเทคโนโลยีและระบบการปฏิบัติการที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว Smart Contract นี้ ก็นับเป็นหนึ่งในกระบวนการทางดิจิตอลที่สามารถกำหนดขั้นตอนของการทำธุรกรรมโดยอัตโนมัติไว้ได้ล่วงหน้า เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินงานบางอย่างลงไปนั่นเอง
หากนำมาใช้ในกระบวนการทางสาธารณสุขแล้ว สิ่งที่จะเห็นได้ชัดที่สุดก็คือการจัดการเรื่องของเอกสารที่ค่อนข้างล่าช้าและไม่สามารถดำเนินการได้อย่าง “ทันทีทันใด” เรียกว่าแค่ใช้ Smart Contract ก็สามารถให้โปรแกรมตรวจสอบเอกสารและข้อมูลได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องมานั่งไล่เปิดแฟ้มข้อมูลของผู้ป่วยเหมือนที่ผ่าน ๆ มา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่สุดเลยก็คือ กระบวนการสั่งจ่ายยาบางชนิดให้กับผู้ป่วยเฉพาะทาง ซึ่งยาบางตัวก็มักจะมีการสั่งจ่ายที่ค่อนข้างยาก มีหลายขั้นตอน เรียกว่าจะสั่งจ่ายได้เฉพาะกับคนไข้เฉพาะทางเท่านั้น การที่ผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับยามาก็ต้องผ่านการลงลายมือชื่ออนุญาตจากแพทย์เฉพาะทางและต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อนทุกครั้ง แน่นอนว่าสิ่งที่ผู้ป่วยต้องเก็บรักษาเอาไว้ก็มักจะเป็นรายการยาที่สั่งจ่าย ในขณะที่ทางโรงพยาบาลเองก็ต้องมีเอกสารที่ต้องเก็บไว้ เพราะฉะนั้น หากนำ Smart Contract มาใช้ ก็จะช่วยลดภาระดังกล่าวลงไปได้ ต่อให้ผู้ป่วยไปตรวจกับหมอคนใหม่ก็สามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องมาเสียเวลามาพิมพ์เอกสาร หรือตรวจเช็กความถูกต้องก่อน ทั้งที่เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก แถมบางทีก็ไม่ได้มีความจำเป็นเท่าการรักษาผู้ป่วยแต่อย่างใด
Blockchain กับบทบาททางการแพทย์
สำหรับบทบาทของ Blockchain ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพด้านการแพทย์ในอนาคตนั้น Blockchain อาจจะถูกนำมาพัฒนาและปรับใช้ในมิติที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลเวชระเบียน ที่ Blockchain สามารถนำมาใช้เป็นระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจัดเก็บข้อมูลประวัติผู้ป่วยและเวชระเบียนได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาค้นตามไฟล์ข้อมูลแบบเดิมหรือแม้แต่การค้นจากแฟ้มเอกสารเหมือนปกติ แน่นอนว่า นั่นหมายถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ป่วยด้วยเช่นเดียวกัน เพราะหากลองสังเกตแล้วจะพบว่าปัญหาที่มีข้อมูลผู้ป่วยรั่วไหลไปยังบริษัทประกันภัย ก็มักจะมาจากการเก็บข้อมูลที่ไม่มีความปลอดภัยมากพอ เพราะฉะนั้น หากนำ Blockchain มาใช้ในด้านเวชระเบียนแล้วก็เท่ากับว่าผู้ป่วยสามารถเลือกที่จะให้สิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลได้ตามความต้องการ พูดง่าย ๆ เลยก็คือ ทุกครั้งที่ไปตรวจกับแพทย์คนใดก็ตาม ผู้ป่วยสามารถอนุญาติการเข้าถึงข้อมูลให้กับแพทย์หรือผู้ให้บริการทางสาธารณสุขได้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีข้อมูลรั่วไหล เพราะอย่างน้อยก็รู้แล้วว่าตนเองให้สิทธิ์การเข้าถึงแก่ใครไปบ้าง
นอกจากนี้ ในมิติของ Supply Chain เอง ก็ถือว่าน่าสนใจไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้ Blockchain มาจัดการกับระบบต่าง ๆ ของยา เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปและการปลอมแปลงยาแต่ละตัว ซึ่งก็จะเป็นข้อดีตรงที่ว่า ผู้รับบริการทางสาธารณสุขสามารถตรวจสอบยาที่ได้ด้วยตนเอง ว่าก่อนที่จะมาถึงมือนั้นผ่านกระบวนการอะไรมาก่อนบ้าง ตั้งแต่ต้นตอของวัตถุดิบที่นำมาปรุงยา การส่งออกและนำเข้ายา อายุของยา ส่วนผสมภายในยา ตลอดจนวิธีการจำหน่ายยานั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Blockchain จะสามารถเข้ามาช่วยให้ระบบสาธารณสุขเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังคงต้องอาศัยการพัฒนาทางเทคโนโลยีในโรงพยาบาลนั้น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดก็คือเรื่องของความปลอดภัยข้อมูลด้านสุขภาพรายบุคคล ที่นอกจากจะเป็นความลับที่ต้องปกปิดแล้ว ยังถือเป็นข้อมูลที่จะช่วยพัฒนางานวิจัยด้านการแพทย์ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ต้องมาตามกันต่อว่าในประเทศไทยจะสามารถนำ Blockchain มาใช้พัฒนาการให้บริการทางสาธารณสุขได้อย่างไรบ้างที่นอกเหนือจากงานด้านเวชระเบียน แล้วปัญหาเดิม ๆ ที่เคยเกิดขึ้นจะยังคงอยู่หรือลดน้อยลงไป แล้ว Smart Contract จะช่วยเอื้อต่อระยะเวลาการทำงานให้สั้นลงแต่มีประสิทธิภาพได้หรือไม่ และหากนำ Blockchain มาใช้ออกแบบการรักษาได้จริง แล้วในมิติของผู้ป่วยที่ยังไม่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีได้จะทำอย่างไรต่อไป ที่สำคัญคือหากนำ Blockchain มาใช้ จะมีประสิทธิผลมาน้อยแค่ไหน นักพัฒนาจะสามารถนำข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านั้นมาจัดการได้อย่างไรโดยที่ไม่ให้เกิดการรั่วไหลตามมา