The big wave in biotechnology

1680

หากกล่าวถึงเทคโนโลยีที่กำลังคืบคลานเข้ามามีบทบาทต่อโลกแล้ว เชื่อว่าบางครั้งอาจจะดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว เช่นเดียวกับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่ดูเผิน ๆ น่าจะไม่ได้เกี่ยวกับประชาชนคนทั่วไปสักเท่าไหร่ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวยิ่งกว่าอยู่ปลายจมูกเสียด้วยซ้ำ เพราะนี่คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะมาพัฒนาประเทศและโลกให้ก้าวไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใหญ่กว่าที่หลาย ๆ คนคิด เพราะฉะนั้น เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยีชีวภาพและการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมระดับโลก 

รากเหง้าของเทคโนโลยีชีวภาพ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต 

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่าเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์นั้น มีมาอย่างช้านาน ซึ่งก็ถูก “พัฒนา” และ “ประยุกต์” เสมอมาอย่างไม่มีข้อจำกัด เช่นเดียวกับการนำเอาองค์ความรู้ที่ตกผลึกจากวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นและก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม ๆ เพื่อสร้างประโยชน์และสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านการอุปโภคบริโภค ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์ ฯลฯ และด้วยความที่เทคโนโลยีไม่ได้มีข้อจำกัดที่ตายตัวนี้เอง จึงทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้กับสิ่งมีชีวิตอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือ “เทคโนโลยีชีวภาพ” หรือ “Biotechnology” 

แน่นอนว่า จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพนี้เอง จึงนำมาสู่การวาง “รากฐาน” ที่จะสร้าง “ความแข็งแรง” ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพนี้เอง จะครอบคลุมตั้งแต่การประยุกต์เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบชีววิทยา สิ่งมีชีวิต หรือแม้กระทั่งการดัดแปลงเซลล์ที่ไม่ใช่ต้นกำเนิด โดยใช้กระบวนการสร้าง ปรับเปลี่ยน แก้ไข ดัดแปลง ทั้งผลิตผลหรือกระบวนการในภาพรวมจนก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น การพัฒนาสายพันธุ์สตรอเบอร์รีที่สามารถปลูกในไทยได้ทั้งที่เป็นประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น ไม่ได้มีอากาศที่เย็นดังเช่นแถบยุโรป แถมยังเติบโตได้อย่างรวดเร็วและออกดอกออกผลได้ดีไม่ใช่น้อย 

จากการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพนี้เอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมระดับโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มของพืชผลทางการเกษตรที่ดูท่าแล้วน่าจะมีอัตราที่เติบโตสูงแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน เพราะนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกว่าไม่อาจประเมินมูลค่าได้เลยทีเดียว 

ข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีชีวภาพ กับการพัฒนาสู่ระดับสากล 

สิ่งที่ทำให้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเลือกที่จะพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นกิจจะลักษณะ และดูจะเป็นรูปเป็นร่างก็เป็นผลอันเนื่องมาจากการเพิ่มขีดความได้เปรียบในระดับสากล โดยที่ยังคงไว้ซึ่ง “การมีศักยภาพ” ที่มั่นคงและยั่งยืน 

หากลองมองในมุมของประเทศไทยแล้ว จะเห็นได้ว่าการยกระดับประเทศด้วยการผลักดันให้หลาย ๆ ภาคส่วนให้ความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพนั้น หลัก ๆ แล้ว ก็เพื่อต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสาขาที่ประเทศไทยเป็นต่อและดูจะได้เปรียบหากเทียบกับนานาอารยประเทศ ที่สำคัญคือต้องสามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนสามารถสร้างความมั่นคงให้ประเทศได้อย่างยั่งยืน 

หากลองมองภาพการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทยที่ค่อนข้างโดดเด่น และมีมูลค่าการส่งออกที่สูงมาก ๆ ก็คือผลิตภัณฑ์ยางพารา นั่นหมายความว่า ภาคเกษตรกรรมในประเทศต้องพัฒนาพันธุ์ยางพาราที่สามารถให้น้ำยางในปริมาณที่สูงได้ โดยที่ต้นไม่เกิดรา และสามารถกรีดได้ในระยะยาว ที่สำคัญคืออาจจะพัฒนาให้สามารถมีผลผลิตในหน้าแล้งได้ ในขณะเดียวกัน การพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อจำกัด เพราะจริง ๆ แล้วสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องก้าวข้ามให้ได้ก็คือ การพัฒนาให้ขึ้นเป็นที่หนึ่งหรืออันดับต้น ๆ ของโลก เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นที่ก็พัฒนาอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน 

อย่างในกรณีที่ชัดมากที่สุดในขณะนี้ ก็คือสายพันธุ์ทุเรียนของไทย ที่ตอนนี้อาจจะเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ก็อย่าลืมว่าในตลาดมีความต้องการที่สูง สวนทางกับปริมาณของผลิตผลที่เก็บเกี่ยว นำมาซึ่งราคาที่พุ่งทะยานแตกต่างจากในอดีต ตามมาด้วยมูลค่าของเงินที่หมุนเวียนในระบบในปริมาณที่มากเช่นกัน จึงทำให้ประเทศที่มีความต้องการอย่างจีนหันมาพัฒนาพันธุ์ทุเรียนให้สำเร็จตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพยายามทดลองสายพันธุ์และหาภูมิอากาศในประเทศที่เหมาะสมต่อปลูกทุเรียนได้ในอนาคต และหากสำเร็จก็เท่ากับประเทศไทยมีคู่แข่งที่น่ากลัวเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะตามมาก็คือประเทศไหนมีผลผลิตที่มากกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่า แถมตรงตามความต้องการผู้บริโภค ก็ย่อมหมายถึงมูลค่าการค้าและการดึงให้นักลงทุนข้ามชาติเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตร และนั่นก็หมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ตามมาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ประเทศไทยเองก็ต้องพัฒนาให้สายพันธุ์ที่มีอยู่ดีมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้ตกเป็นรองประเทศที่อาจจะพัฒนาสายพันธุ์ของทุเรียนสำเร็จในอนาคต 

อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ 

แน่นอนว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ ที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ นี้เอง นับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้มีธุรกิจเล็ก ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เรียกว่าเป็นการเปิดลู่ทางที่จะให้นักธุรกิจหน้าใหม่ได้ฉายแสงพอสมควรเลยทีเดียว รวมไปถึงประชาชนที่จะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของตนเอง 

ตัวอย่างที่น่าจะเด่นชัดมากที่สุด ก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในด้านของการเกษตรและอาหาร ที่จะต้องมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์ด้านพันธุวิศวกรรมเป็นหลัก หรือที่เรียกกันว่า “การใช้เซลล์เป็นเสมือนโรงงาน” (Cell Factory) แน่นอนว่า จะต้องครอบคลุมทั้งการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ ที่ต้องให้ผลผลิตที่สูง ต้านทานโรคและศัตรูพืช ยกตัวอย่าง ในฟาร์มไก่ จะต้องมีการควบคุมและพัฒนาพันธุ์ไก่ที่ง่ายต่อการเลี้ยง รวมไปถึงมีความแข็งแรงไม่ติดโรคหรือแม้แต่แพร่กระจายเชื้อโรคทั้งต่อสัตว์ด้วยกันเองหรือแม้แต่กับมนุษย์ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการของห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain จนไปถึงมือของผู้บริโภคแล้ว ก็จะกลายเป็นไก่ที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรค สร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

ในขณะที่หากเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในมุมมองของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพแล้ว หลัก ๆ จะต้องพัฒนาให้มุ่งเน้นไปที่การป้องกัน การตรวจวินิจฉัย ตลอดจนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เหมือนกับการผลักดันให้สามารถนำกัญชามาสกัดทำยารักษาโรคด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะโรคที่ยังไม่อาจรักษาให้หายได้ เพียงเพราะใช้ยาแผนปัจจุบันที่สั่งจ่ายตามโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง แน่นอนว่า การพัฒนาและสกัดกัญชานี้ก็ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาพันธุ์ของกัญชาในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะเกี่ยวโยงกับการภาคของการเกษตรโดยตรง พูดง่าย ๆ เลยก็คือ ในมุมของภาคการเกษตรจะต้องปลูกและพัฒนาพันธุ์กัญชาที่ดีที่สุดให้สำเร็จ เหมาะแก่การนำมาสกัดเพื่อทำยารักษาโรคในภาคของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ที่ก็ต้องมีขั้นตอนในการสกัดและการทำตัวยาให้เหมาะแก่การรักษาโรคควบคู่ไปกับภาคเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน 

แม้แต่ในมุมของการพัฒนาพลังงานชีวภาพก็น่าจะเป็นอีกทิศทางหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในมุมของประเทศไทยที่ยังคงต้องพัฒนาให้พลังงานชีวภาพสามารถใช้ได้อย่างทั่วถึงและอยู่ในสัดส่วนที่ดีมากกว่าเดิม โดยการใช้ผลิตผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ซึ่งในอนาคตนอกเหนือจากผลิตผลทั้ง 3 ชนิดนี้แล้ว ยังรวมไปถึงการนำพืชชนิดอื่น ๆ มาสกัดให้เป็นพลังงานชีวภาพให้ได้ ที่สำคัญคือ พืชชนิดต่าง ๆ ที่จะนำมาพัฒนาและใช้เป็นพลังงานชีวภาพก็ต้องเป็นพืชที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่ชัดเจนด้วยเช่นเดียวกัน 

ถึงแม้ว่า ในยุทธศาสตร์ที่มีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาในอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ นั้น ก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นหลักเสียมากกว่า แต่ที่มั่นใจได้เลยว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเลยก็คือ ระบบห่วงโซ่อุปทานที่น่าจะเปลี่ยนแปลงและเกิดการผันผวนพอสมควร และน่าจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของโลกได้ไม่ใช่น้อย