นับตั้งแต่ที่โลกได้เดินหน้าเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างเป็นทางการนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวก็ถูกผสานเข้ากับเทคโนโลยีแทบจะทั้งสิ้น เช่นเดียวกับในมิติของการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ในขณะนี้ก็เริ่มให้ IoT เข้ามามีบทบาทและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่าที่เคย และด้วยความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมนี้เอง จึงทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า หากทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถสื่อสารหากันได้อย่างอัตโนมัติก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทิศทางที่ช่วยให้อุตสาหกรรมเจริญรุดหน้าได้มากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน
อุตสาหกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง กับการพัฒนา M2M ให้สำเร็จ
หากนึกถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อมีความก้าวหน้ามากขึ้นนั้น ก็คงจะหนีไม่พ้น M2M (Machine to Machine Communication) หรือก็คือ การที่ให้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรในอุตสาหกรรมสามารถติดต่อและสื่อสารกันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์เข้าไปสั่งการหรือเกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการบริหารจัดการเหตุการณ์และการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ของทุก ๆ ส่วน ให้เกี่ยวโยงและต่อเนื่องกัน
ซึ่งการทำงานของ M2M นั้น หลัก ๆ แล้ว จะเป็นการทำงานของระบบที่จะผสานเข้ากับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีกลไกการทำงานแบบอัตโนมัติ โดยการใช้เซนเซอร์ (Sensor) ให้วัดค่าต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมนั้น ๆ แล้วให้ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายที่ตั้งค่าเอาไว้ เช่น เครือข่ายไร้สาย โดยจุดเด่นของ M2M นี้ นอกจากจะช่วยให้อุปกรณ์และเครื่องจักรต่าง ๆ สามารถสื่อสารหากันได้อย่างทันทีและทันใดแล้ว ยังเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการลดระยะเวลาในการดำเนินงานลงไปได้มากกว่ากึ่งหนึ่ง เช่น ในกระบวนการเก็บข้อมูลของวิศวกรที่ต้องประเมินการทำงานของเครื่องจักรที่ส่งผลต่อการผลิตสินค้า ที่จะต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลแบบเครื่องต่อเครื่อง ก็จะกลายเป็นว่าเครื่องจักรนั้น ๆ สามารถส่งข้อมูลเพื่อให้อีกอุปกรณ์นำข้อมูลที่ได้มาจากเครื่องจักรมาเก็บและประมวลผลเพื่อดำเนินการต่อได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น ในการรดน้ำพืชผลทางการเกษตรของฟาร์ม จากเดิมจะต้องให้คนมารดน้ำตามระยะเวลาที่กำหนด ก็จะกลายเป็นว่าเมื่อตั้งตัววัดอุณหภูมิที่มีเซนเซอร์เอาไว้ในแปลงแล้ว เมื่ออุณหภูมิลดลงตามค่าที่กำหนดไว้ ตัววัดอุณหภูมิก็จะส่งสัญญาณไปยังสปริงเกอร์เพื่อให้สปริงเกอร์ทำงานและรดน้ำพืชผลได้ทันที โดยที่มนุษย์ไม่ต้องไปเปิดปิดสปริงเกอร์ให้ทำงาน หรือแม้แต่เดินรดน้ำเหมือนที่ผ่าน ๆ มา
นอกจากนี้ ด้วยการพัฒนา M2M ให้สามารถเข้ามาอยู่ในระบบอุตสาหกรรมนี้เอง นอกจากจะช่วยย่นระยะเวลาในการดำเนินงานได้แล้ว ยังช่วยให้อุตสาหกรรมนั้น ๆ สามารถลดต้นทุนในการทำงานได้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ในกรณีที่ต้องให้คนไปเก็บข้อมูลตามเครื่องจักรเพื่อนำไปประมวลผล ก็จะกลายเป็นว่าไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์มาทำหน้าที่ตรงนี้อีกต่อไป เพราะสามารถให้เครื่องจักรทำงานโดยการใช้ระบบ M2M ได้เลย และเมื่อสามารถลดต้นทุนได้แล้ว ก็เท่ากับว่าอุตสาหกรรมนั้น ๆ จะสามารถนำเงินส่วนที่เหลือไปพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมในด้านอื่น ๆ ได้ต่อไป เป็นต้น
แนวคิด IoT กับการทำงานร่วมกันกับ M2M ในอุตสาหกรรม
สำหรับแนวคิด IoT (Internet of Thing) หรือ “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” นั้น ก็คือ แนวคิดที่จะผลักดันให้อุปกรณ์ต่าง ๆ หรือสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายไร้สายได้ ตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตู้เย็น รองเท้า พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ไปจนถึงอุปกรณ์ที่อยู่ตามอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ซึ่งการเชื่อมต่อสื่อสารภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า IoT นี้ จะเป็นการเชื่อมต่อที่มุ่งเน้นไปที่การสื่อสารและเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ ซึ่งโพรโตคอลที่นิยมกันในอุตสาหกรรมก็คือ MQTT ซึ่งจะเป็นโพรโตคอลสำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ หรือก็คือ M2M เพราะฉะนั้น การทำงานของระบบที่เรียกว่า M2M ก็คือหนึ่งในการผลักดันให้เกิด IoT นั่นเอง โดยรูปแบบการเชื่อมต่อของ M2M นี้ จะเป็นการเชื่อมต่อผ่านเซิร์ฟเวอร์ที่เรียกกันว่า Broker โดยจะเป็นตัวการที่ใช้จัดการคิวการสื่อสารของอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยการใช้ Topic เป็นหลัก โดยที่จะมีอุปกรณ์ที่เป็นตัวเผยแพร่ Topic ซึ่งในแต่ละ Topic ก็จะมีหัวข้อผูกอยู่ ที่สำคัญคือจะมีอุปกรณ์ที่คอยติดตามหรือที่เรียกว่า Subscriber เพราะฉะนั้น เมื่อมีการสื่อสารของอุปกรณ์ใด ๆ แล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็จะสื่อสารหากันแล้วแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้เกิดการทำงานตามที่ระบบตั้งค่าเอาไว้
เพราะฉะนั้น ในมิติของอุตสาหกรรมนี้เอง จึงกลายเป็นว่าการที่ต้องการให้เกิดแนวคิดของ IoT โดยการทำงานของ M2M นี้ จึงเปรียบเสมือนกับการผลักดันให้อุตสาหกรรมสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและทันทีทันใด ที่สำคัญคือ เมื่ออุตสาหกรรมสามารถเติบโตโดยการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเลยหากทำให้อุตสาหกรรมสามารถเจริญเติบโตได้อย่างมีศักยภาพที่มั่นคงต่อไป
โอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรม กับการพัฒนา M2M และ IoT
แน่นอนว่า ด้วยความเกี่ยวโยงกันของ M2M ที่มีส่วนในการผลักดันให้เกิด IoT ได้อย่างจริงจังนี้เอง จึงทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมให้เป็นไปอย่างมีศักยภาพที่มั่นคงได้มากขึ้น สมกับคำนิยามที่กล่าวกันว่าเป็นอุตสาหกรรมในยุค 4.0
ซึ่งการนำเทคโนโลยีทั้ง M2M และ IoT มาใช้ในมิติของอุตสาหกรรมนี้เอง นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสให้อุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่หยุดนิ่งแล้ว ยังทำให้ระบบการจัดการของอุตสาหกรรมมีความแข็งแรงมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาบริหารจัดการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบ ERP ที่จะช่วยเรื่องของการบริหารจัดการงานภายในองค์กรให้มีระบบระเบียบมากกว่าที่เคย เมื่อผสานการทำงานของ M2M แล้ว ก็จะเป็นการง่ายที่จะช่วยให้องค์กรสามารถเห็นถึงปัญหาและข้อบกพร่องได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องมีตัวกลางที่เรียกว่า “เวลา” เหมือนที่ผ่าน ๆ มา
ที่สำคัญคือ ในมิติของ M2M นี้ ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้แค่กับอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เท่านั้น หากแต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ได้กับอุตสาหกรรมแทบจะทุกวงกร ไม่ว่าจะเป็น การบำรุงรักษาอุปกรณ์อุตสาหกรรม การติดตามคมนาคมการขนส่งและโลจิสติกส์ การควบคุมผลิตผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพ ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ไปจนถึงการปลูกพืชผัก โดยการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยวัดอุณหภูมิที่เหมาะสม ความชื้น แสงสว่าง หรือแม้แต่การควบคุมการผลิตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความต้องการของตลาด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตนี้ ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยี M2M จะมีบทบาทแค่ในอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ยังมีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่านักพัฒนาจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในด้านใดบ้าง และสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปก็คือ ในอนาคตหาก M2M เข้ามามีบทบาทในทุก ๆ ด้านของสังคมโลกแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง โดยเฉพาะการประกอบอาชีพของมนุษย์ที่สามารถให้ M2M เข้ามาทำงานแทนได้ เป็นต้น