หากใครที่เคยติดตามข่าวสารของเงินดิจิตอลอย่าง “Bitcoin” มาก่อน ก็คงจะพอเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของโลกได้พอสมควร โดยเฉพาะค่าของเงินที่ผันผวนจนไม่อาจคาดเดาได้ แน่นอนว่าในยุคที่โลกกำลังถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าไปด้วยเทคโนโลยีนี้เอง จึงทำให้หลาย ๆ องค์กรหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างสกุลเงินดิจิตอลอื่น ๆ ให้มีบทบาทในสังคมโลกเช่นกัน หนึ่งในนั้นก็คือ “Libra” สกุลเงินที่ถูกพัฒนาโดย “Facebook” ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเปรียบเสมือนสึนามิที่กำลังก่อตัวเป็นคลื่นที่อยู่ใต้ผิวน้ำในขณะนี้
ถือกำเนิด “Libra” สกุลเงินใหม่ของโลกอนาคต
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นับว่ากระแสของเงินดิจิตอลนั้นค่อนข้างโหมกระหน่ำไม่ใช่น้อย แถมแต่ละองค์กรต่างก็เริ่มตื่นตัวและหันมาพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลของตัวเองมากขึ้น เช่นเดียวกับโครงการ “Libra” ของ “Facebook” ที่ได้เปิดเผยถึงการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลนี้ให้เป็นสกุลเงินของโลก (Global Currency) แน่นอนว่า นี่คือกระแสที่หลาย ๆ คนไม่อาจมองข้ามได้ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า Facebook นั้น คือหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่มีการใช้งานสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะฉะนั้น หาก Libra ถูกนำมาใช้จริง ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งกระแสที่อาจจะมาเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของโลกในอนาคตอันใกล้
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าสกุลเงินดิจิตอลนั้น มีข้อจำกัดในเรื่องของความชัดเจน ไม่มีที่มาที่ไป และมีความผันผวนของมูลค่าเงินที่ค่อนข้างสูง หากแต่ Libra มีความแตกต่างจากสกุลเงินดิจิตอลอื่น ๆ ตรงที่มี “ความน่าเชื่อถือ” มากกว่า เพราะรู้ว่าใครคือผู้พัฒนาต่างจากเงินดิจิตอลสกุลอื่นที่บางทีก็ไม่รู้ว่ามาจากไหนและใครเป็นคนทำ แน่นอนว่า Libra ก็ยังคงใช้โมเดลของ Blockchain ในการพัฒนา เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ด้าน “ความโปร่งใส” หากแต่สิ่งที่ทำให้ Facebook ค่อนข้างนำหน้าและได้เปรียบก็คือ การใช้บทเรียนของสกุลเงินดิจิตอลอื่น ๆ มาพัฒนาให้ดีกว่า หนึ่งในนั้นก็คือการสร้างหลักประกันความมั่นคงโดยการใช้ “สินทรัพย์” มาช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับคนที่ใช้ Libra แถมข้อได้เปรียบที่ดูจะเด่นชัดมากที่สุด ก็คือฐานลูกค้าของ Facebook ที่มีจำนวนมหาศาล เรียกว่าไม่ต้องทำการตลาดก็มีลูกค้าในกำมืออยู่แล้ว
แน่นอนว่า การสร้างเงินดิจิตอลสกุล Libra นั้น จุดประสงค์เริ่มแรกเลยก็คือ การสร้างเงินที่สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้อย่างเท่าเทียมภายใต้สกุลเงินที่มีมูลค่าเท่ากัน พูดง่าย ๆ เลยก็คือ ทุกคนจะสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตามที่ต้องการ โดยจะไม่มีเรื่องค่าธรรมเนียมและขั้นตอนการยืนยันตัวตนที่จุกจิกดังเช่นที่ผ่าน ๆ มา ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยก็คือ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศก็ไม่จำเป็นต้องแลกเงินสดเพื่อใช้จับจ่ายอีกต่อไป แค่ใช้เงินดิจิตอลอย่าง Libra จากแอปพลิเคชัน Facebook Messenger ด้วยกระเป๋าเงิน e-Wallet จ่ายค่าสินค้าและบริการก็เพียงพอ
ทั้งนี้ เมื่อลองดูองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมกับโครงการนี้แล้ว บอกเลยว่าความสำเร็จของ Libra อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน เพราะองค์กรพันธมิตรที่ว่านั้น ครอบคลุมแทบจะทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านการลงทุน, การพัฒนา Blockchain, โซเชียลมีเดีย, e-Commerce, การท่องเที่ยว หรือแม้แต่ระบบการชำระเงิน แถมจากการคาดการณ์แล้วเชื่อว่าไม่เกินปี 2563 อาจจะมีสมาชิกรายใหญ่ระดับโลกเข้าร่วมกับโครงการนี้มากถึง 100 รายเลยทีเดียว
เพราะฉะนั้น หากลองวิเคราะห์จากการพัฒนาและการดึงผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ ระดับแนวหน้าของโลกให้เข้าร่วมกับโครงการนี้แล้ว จึงไม่แปลกเลยหากในอนาคต Libra จะกลายเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน และถึงแม้ Facebook จะเป็นผู้ที่ก่อตั้งแต่พัฒนาสกุลเงินดิจิตอล Libra จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วการบริหารและการจัดระบบระเบียบของ Libra อยู่ภายใต้องค์กรที่มีชื่อว่า Libra Association หาใช่ Facebook ดังที่หลายคนเข้าใจ
ความปลอดภัยของ Libra กับข้อจำกัดที่รอการก้าวข้าม
จริงอยู่ที่ว่า ดูเผิน ๆ แล้วเงินดิจิตอลสกุล Libra นั้น น่าจะเป็นรูปเป็นร่างและใช้งานได้จริงในอนาคต แต่หากลองดูในเชิงลึกแล้ว ก็ยังปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่ายังมีข้อจำกัดที่ยังต้องเผชิญอยู่บ้าง โดยเฉพาะความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้บริการ และปัญหาในเรื่องของการทำผิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่าแม้ให้ Facebook จะพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลอย่าง Libra ขึ้นมาได้สำเร็จ แต่ก็ต้องมาสะดุดขั้นบันไดสักขั้นอยู่ดี
แน่นอนว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่ยังทำให้ Libra ไม่สามารถถูกพัฒนาต่อได้ในตอนนี้ก็คือ ความน่าเชื่อถือของ Facebook ด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบัญชีผู้ใช้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเลยก็คือเหตุการณ์ที่ทำให้ Facebook เกิดแผลใหญ่ในปี 2561 ที่ผ่านมา ที่ได้มีกรณีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน Facebook จำนวนมากกว่า 80 ล้านรายทั่วโลกรั่วไหล จากการที่ Cambridge Analytica ได้นำข้อมูลในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แถม Mark Zuckerberg ก็ดันยอมรับว่าตัวเขาไม่ได้มองการณ์ไกลถึงขนาดนั้น จนทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ขึ้นมา
ซึ่งจากกรณีนี้เอง กลายเป็นจุดใต้ตำตอที่ Facebook เองก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ประมาณว่า เป็นความผิดพลาดที่ก่อให้เกิดแผลเป็นที่ไม่อาจลบออกไปได้ แม้จะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม เพราะฉะนั้น นี่ก็คือสิ่งที่หลาย ๆ คนกังวลว่า หากสกุลเงิน Libra ถูกนำมาใช้จริง แล้วจะมั่นใจได้ยังไงว่ามันจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก ยังไม่นับรวมเรื่องของการควบคุมและดูแลให้สกุลเงินนี้ไม่เข้าข่ายการทำผิดกฎหมายในอนาคตด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้ตามแพลตฟอร์มของ Blockchain จะมีความโปร่งใสและยากต่อการแก้ไขข้อมูลจริง แต่มันก็มาพร้อมข้อจำกัดที่จะตรวจสอบ “ความสะอาด” ของเงินด้วยเช่นกัน อย่าลืมว่า Libra นั้น นอกจากจะมีความง่ายและความสะดวกในการใช้งานแล้ว สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดที่สุดก็คือความรวดเร็วในการทำธุรกรรม เพราะฉะนั้น หากไม่มีอะไรมารองรับความปลอดภัยและความโปร่งใสได้จริง มันก็จะดูง่ายมากหากจะทำให้เงินสีดำกลายเป็นเงินที่ใสสะอาดราวผ้าขาวบริสุทธิ์
อนาคตของการใช้ Libra กับภาวะเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลง
ถึงแม้ในตอนนี้ โครงการพัฒนาเงินดิจิตอลของ Facebook จะถูกเบรกเอาไว้อยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะถูกพับโครงการไปเสียเมื่อไหร่ เพียงแต่อยู่ในขั้นของการวางแนวทางที่จะมาควบคุมความใสสะอาดของเงินและการยอมรับที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในอนาคต ที่สำคัญคือ ต้องมีการรักษาความปลอดภัยและควบคุมความผันผวนค่าของเงินได้ ที่ชนิดที่ว่าต้องไม่ไปซ้ำรอยแผลเดิมเหมือน Bitcoin เผชิญมาก่อน เพราะฉะนั้น มาลองดูกันว่า หาก Libra ถูกนำมาใช้จริง จะมีกรณีใดที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง แล้วผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเป็น “ฝันดี” หรือ “ฝันร้าย” กันแน่
กรณีที่ 1 : การเงินเปลี่ยน Libra กลายเป็นเงินที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก
หาก Libra สามารถก้าวขึ้นมาเพื่อเป็นหนึ่งในเงินที่ทรงอิทธิพลต่อโลกได้จริง ดังเช่นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินยูโร และสกุลเงินหยวนของจีน นั่นแสดงว่าคนทั่วโลกสามารถใช้เงินดิจิตอล Libra ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ปราศจากความเหลื่อมล้ำดังเช่นที่ผ่าน ๆ มา ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยก็คือ เวลาที่จะสั่งสินค้าข้ามประเทศ หลัก ๆ แล้ว การทำธุรกรรมจะต้องตัดผ่านบัตรที่เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรวีซ่า หรือแม้แต่ใช้ระบบธนาคารออนไลน์ PayPal แน่นอนว่า ข้อจำกัดอย่างแรกเลยก็คือ “ความยาก” ในการสมัครใช้งานและ “ระยะเวลา” ที่นานเกินความจำเป็น ประมาณว่า อยากจะซื้อสินค้าใน eBay แต่ยังไม่มีบัญชี PayPal กว่าจะมานั่งสมัครใช้งาน ยืนยันตัวตน และผูกเข้ากับบัตรธนาคารก็น่าจะใช้เวลานานมาก แถมบางทีอาจเจอภาษีและค่าธรรมเนียมที่สูงเกินจำเป็นอีกต่างหาก เพราะฉะนั้น เมื่อ Libra ถูกนำเข้ามาใช้จริง ก็จะง่ายในการซื้อสินค้าและบริการ เพียงแค่มี e-Wallet ที่ผูกเข้ากับ Facebook Messenger ก็สามารถซื้อขายตามสกุลเงิน Libra ได้เลย โดยไม่ต้องไปนั่งเทียบตารางค่าของเงินในแต่ละวันให้เสียเวลา และไม่ต้องมาคอยบวกลบค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เผื่อเอาไว้
กรณีที่ 2 : ระบบเงินผันผวน และไม่สามารถควบคุม “ความปลอดภัย” และ “ความโปร่งใส” ได้
แน่นอนว่า นี่คือทิศทางที่น่ากังวลไม่ใช่น้อยเมื่อมีการนำเงินดิจิตอล Libra มาใช้จริง หากมองในมุมของระบบการเงินของโลกแล้ว สิ่งที่น่ากลัวก็คงจะหนีไม่พ้นความผันผวนของค่าเงินที่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะพอควรได้ เรียกว่าการขาดสเถียรภาพนั่นเอง คิดภาพง่าย ๆ เลยก็คือ สมมติวันนี้ค่าเงิน Libra อยู่ที่ 1:20 บาทไทย แต่กลายเป็นว่าหนึ่งอาทิตย์ต่อมาดันสูงถึง 1:100 บาทไทยเสียอย่างนั้น ซึ่งหากเกิดความผันผวนแบบนี้ขึ้นจริง ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงเหมือนพายุเท่านั้น แต่หมายถึงระบบการเงินของโลกที่อาจอยู่ในขั้นวิกฤตแทนก็ได้ ดังนั้น สิ่งแรก ๆ ที่ Libra ต้องก้าวข้ามให้ได้ก็คือ การเป็นที่ยอมรับในวงกว้างทั้งในภาครัฐและเอกชนของแต่ละประเทศ โดยต้องรักษามูลค่าไม่ให้มีความผันผวนและมีความมั่นคง ปิดท้ายด้วยต้องมีหน่วยวัดมูลค่าที่ก่อให้เกิดความไว้วางใจที่จะใช้สกุลเงินดิจิตอลนี้มาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน
ยังไม่นับรวม “ความเป็นส่วนตัว” ของบัญชีผู้ใช้ที่หลาย ๆ คนกังวลว่าจะยังมีความปลอดภัยอยู่หรือไม่ ยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ เลยก็คือ หากมีใครที่สามารถแฮคข้อมูลหรือบัญชีผู้ใช้ Facebook แล้วนำเงิน Libra ในระบบ e-Wallet ไปใช้หาผลประโยชน์ส่วนตัว จะมีมาตรการอะไรที่ป้องกันได้บ้าง เพราะทุกวันนี้ก็มีหลายคนไม่น้อยที่เจอกับสถานการณ์ดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน อย่าลืมว่า Libra คือสกุลเงินที่ถูกพัฒนาจาก Facebook โดยใช้ระบบของ Blockchain มาใช้ นั่นหมายความว่า ต่อให้มีความปลอดภัยของข้อมูลและความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ แต่อย่าลืมว่าข้อจำกัดของ Blockchain ก็คือการปิดบังตัวตนไม่ให้บุคคลอื่นรู้ว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูล ในขณะที่ยังคงคอนเซ็ปต์การใช้ระบบเปิดเพื่อให้เห็นถึงความโปร่งใส เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่ากลัวนอกจากความผันผวนของค่าเงินแล้ว ยังครอบคลุมทั้งในมุมของกฎหมาย การก่ออาชญากรรมทางการเงิน และระบบการเงินของทั่วโลก มองง่าย ๆ เลยก็คือ เราจะไม่รู้เลยว่าการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการกระทำที่ “บริสุทธิ์” หรือ “มืดดำ” กันแน่ แถมยังไม่สามารถระบุได้ว่านั่นจะเป็นความเสี่ยงด้าน Cyber Security หรือไม่ ยังไม่นับรวมกับผลกระทบของธุรกิจประเภท Exchange Rate ที่อาจจะโดนสึนามิพัดหาก Libra สามารถทลายกำแพงระบบการแลกเปลี่ยนเงินดิจิตอลได้จริง
กรณีที่ 3 : ข้อจำกัดในการใช้ Libra กับประเทศที่ยังปิดกั้น
แน่นอนว่า หาก Libra ถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้จริง ทิศทางที่น่าสนใจก็คือการพัฒนาแพลตฟอร์มที่พร้อมต่อการใช้เงินดิจิตอล Libra ของแต่ละประเทศ พูดง่าย ๆ เลยก็คือ ก่อนที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะอนุญาตให้ใช้เงินดิจิตอลได้ จะต้องมีการอนุญาตและพัฒนาแพลตฟอร์มที่รองรับเสียก่อน เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อระบบการเงินในประเทศนั้น ๆ ที่สำคัญคือ เหล่าสถาบันการเงินต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับระบบของ Libra ให้ละเอียด ตั้งแต่ การพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้บริการ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เสถียรภาพของระบบ การดูแลและแก้ไขปัญหาขององค์กรที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีเกิดขึ้น
และอย่าลืมว่า ในบางประเทศก็ยังคงปิดกั้น Facebook อยู่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่ ที่หลาย ๆ คนคงทราบดีว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่อนุญาตให้ประชากรใช้ Facebook นั่นหมายความว่า ต่อให้เกิดการใช้เงินดิจิตอล Libra จริง สิ่งที่ตามมาก็คือ การสูญเสียรายได้ของประเทศที่มีมูลค่ามหาศาลชนิดที่ประเมินค่าไม่ได้ และเชื่อว่าคงไม่ได้มีแค่จีนเท่านั้นที่อาจต่อต้าน เพราะอาจจะยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินดิจิตอล Libra ในอนาคต และพร้อมที่จะปิดกั้นการเข้าถึงของประชาชนอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Libra จะยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าในอนาคตจะสามารถนำมาใช้ได้จริงดังที่หลาย ๆ คนคาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะนี่ถือเป็นก้าวที่ดูจะยิ่งใหญ่และท้าทายมากที่สุดของ Facebook เลยก็ว่าได้ ที่จะต้องก้าวข้ามขีดจำกัดต่าง ๆ ให้ได้โดยเร็ว เพื่อผลักดันให้สกุลเงินดิจิตอลของตนเองเป็นสกุลเงินที่มีอิทธิพลต่อระบบการเงินของโลก ในขณะเดียวกัน ก็เป็นที่น่าสนใจอีกว่า หากเกิดการนำมาใช้จริงในอนาคตอันใกล้นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง จะบวกหรือลบกันแน่ และหาก Libra ประสบความสำเร็จได้จริง แล้วประเทศที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอย่างจีนแผ่นดินใหญ่จะทำอย่างไรต่อไป ระหว่างยอมอ่อนข้อหรือปิดกั้นแล้วหาทางโต้กลับด้วยการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลของตนเองขึ้นมาบ้าง หรืออาจจะพยายามพัฒนาเครือข่าย 5G ให้สำเร็จก่อน แล้วควบคุมระบบเครือข่ายในวงกว้างเสียเลย