ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บทบาทด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น นับเป็นบทบาทที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของสังคมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับ “ความเป็นความตาย” ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม และด้วยจำนวนประชากรที่มีปริมาณค่อนข้างมาก สวนทางกับจำนวนของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้เอง จึงทำให้มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่อาจเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีที่ใช้ยังไม่สามารถรองรับการให้บริการได้อย่างเพียงพอ จึงไม่แปลกเลยหากนี่คือปัญหาที่เปรียบเสมือนเนื้อร้ายที่กัดกร่อนคนในสังคม
ข้อจำกัดของการรักษาชีวิต ในมิติด้านการแพทย์
หากนึกถึงปัญหาที่ยังคง “คาราคาซัง” และเปรียบเสมือน “เนื้อร้าย” ของระบบสาธารณสุขแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้น “ความไม่เพียงพอ” และ “ความแม่นยำ” ในการรักษาอย่างแน่นอน เพราะนอกจากระบบการให้บริการภายในโรงพยาบาลที่มีหลายขั้นตอนแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องของการรักษาที่ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจำนวนของบุคลากรที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และความแม่นยำในการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที
ซึ่งในส่วนของการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์นั้น นับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันแบบโดมิโนเลยก็ว่าได้ โดยการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์มีทั้งแบบเกิดจากบุคลากรที่ไม่เพียงพอและการกระจายตัวของวิชาชีพที่ยังเข้าไม่ถึงพื้นที่ห่างไกลหรือชนบท และที่น่าสนใจก็คือ ปัญหาดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อ “การรักษา” โดยตรง ชนิดที่ว่ายิ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่อยู่ระหว่างการส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หากแต่ระหว่างทางผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา ก็ยิ่งเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะในขณะนั้นไม่มีใครทราบได้เลยว่า บุคลากรที่อยู่ตรงจุดนั้นมีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ แล้วอุปกรณ์ที่มีอยู่เพียงพอต่อการรักษามากแค่ไหน หรือหากพยาบาลต้องการติดต่อหาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาระหว่างทางโดยการใช้โทรศัพท์มือถือ ก็จะเท่ากับว่าจะเหลือเพียงมือเดียวเท่านั้นที่ใช้รักษาให้หายจากอาการดังกล่าว แล้วก็ไม่น่าจะเป็นผลดีสักเท่าไหร่ในการดูแลผู้ป่วยในยามวิกฤต
และจากกรณีตัวอย่างที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น เพราะนอกจากการรักษาชีวิตของผู้ป่วยที่อยู่ในอาการวิกฤตแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นกับมิติทางการแพทย์ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ การปฏิบัติงานจริงในห้องผ่าตัด ที่ยังเป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบเดิมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา หรือแม้แต่การวางแผนการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูงที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขนั้น ไม่ใช่เพียงในประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบกับปัญหาดังกล่าว หากแต่ประเทศอื่น ๆ ก็ยังคงเผชิญกับปัญหานี้อยู่เช่นเดียวกัน เพียงแต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและนโยบายในการจัดการและแก้ไขปัญหาโดยภาพรวมเป็นหลักเท่านั้น เพราะฉะนั้น ด้วยข้อจำกัดที่อยู่ในระบบสาธารณสุขนี้เอง จึงเปรียบเสมือนตัวการที่ทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถ “เติบโต” และ “ก้าวหน้า” ได้ ดังที่ควรจะเป็น
จากอุปกรณ์ด้านเกมเมอร์ สู่ตัวช่วยด้านการแพทย์
แน่นอนว่า หากให้นึกภาพถึงเทคโนโลยีด้านการแพทย์แล้ว ก็คงจะต้องเกี่ยวเนื่องกับอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกต่าง ๆ อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องผ่าตัด อุปกรณ์ที่ใช้ตรวจโรค หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดชีพจร ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์ที่ถูกพัฒนาเพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการรักษาคนไข้โดยเฉพาะ โดยแต่ละชนิดก็จะมีหน้าที่และข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการใช้งานเป็นหลัก
จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้เอง จึงทำให้เกิดอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Microsoft HoloLens” หรือก็คือ แว่น AR ระดับสูง ที่จะช่วยให้มองภาพในลักษณะของภาพ 3 มิติ หรือที่เรียกว่าเทคโนโลยี “Holograms” ได้ โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้ เริ่มแรกเป็นอุปกรณ์ที่เกิดมาเพื่อเป็น “คอมพิวเตอร์” หรือ “สมาร์ทโฟน” ในรูปแบบของแว่นเท่านั้น ซึ่งการใช้งานมักจะเน้นไปที่การพัฒนาโปรแกรมหรือการใช้งานทั่วไปในลักษณะของรูปแบบ 3 มิติเป็นหลัก แต่ด้วยการพัฒนาด้าน AR ที่ก้าวหน้านี้เอง จึงทำให้ HoloLens เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่เหล่าเกมมิ่งนำมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกมต่าง ๆ ที่ผสานเข้ากับเทคโนโลยี AR ให้มีความล้ำสมัยเป็นหลัก
แต่ด้วยลักษณะของ HoloLens ที่สามารถต่อยอดสู่ด้านต่าง ๆ ได้ จึงทำให้บริษัทผู้ผลิตซอฟท์แวร์สำหรับเทคโนโลยีการผสมผสานโลกเสมือนจริงได้พัฒนาแพลตฟอร์มการทำงานด้านการแพทย์เพิ่มขึ้นมาจากเดิม ความพิเศษก็คือ สามารถแสดงภาพเสมือนจริงในการจำลองการผ่าตัดกระดูกสันหลังในส่วนที่มองไม่เห็นให้ปรากฎออกมาในรูปแบบของภาพ 3 มิติ ซึ่งในระหว่างที่มีการผ่าตัดนั้น ศัลยแพทย์ก็จะใช้ HoloLens ในการติดตามการผ่าตัดเพื่อให้ผลออกมาเป็นดังที่ต้องการ
แน่นอนว่า ด้วยโมเดลของ HoloLens ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการทำงานของ Microsoft ที่เป็นคอมพิวเตอร์นี้เอง จึงทำให้ผู้ที่สวมใส่แว่นสามารถออกแบบและใช้งานได้เสมือนกับกรใช้คอมพิวเตอร์ เพียงบังคับด้วยมือเท่านั้น สมมติว่าเวลามองผ่านแว่นแล้วจะเขียนมาส์กจุดที่สำคัญในการผ่าตัด ก็สามารถใช้นิ้ววาดบริเวณภาพที่ปรากฎตรงหน้าได้เลย
เพราะฉะนั้น เมื่อ HoloLens ได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวช่วยด้านการแพทย์นี้เอง จึงทำให้ทิศทางของการรักษาเป็นไปอย่างมีมิติและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ในระบบประสาทที่มีเส้นประสาทจำนวนมาก ยากต่อการสังเกตและวาดภาพเพื่อวางแผนการผ่าตัดให้คนอื่นเข้าใจ แต่เมื่อสวมแว่น HoloLens แล้ว ก็จะสามารถให้แว่นประมวลผลออกมาในรูปแบบภาพ 3 มิติ ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาเปิดตำราหรือวาดภาพวางแผนการผ่าตัดเหมือนที่ผ่าน ๆ มา
ทิศทางของการใช้ HoloLens กับมิติด้านสาธารณสุขในประเทศไทย
ถึงแม้แว่น HoloLens จะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกในการใช้งานด้านการแพทย์ได้จริง แต่ข้อจำกัดของการใช้ HoloLens ในเมืองไทยนั้น ก็ยังมีอยู่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ทั้งการพัฒนาและการสั่งซื้อเพื่อนำมาใช้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ของแต่ละแห่ง
โดยในส่วนของการพัฒนาของเหล่าโปรแกรมเมอร์นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในเมืองไทยยังมีนักพัฒนาระบบเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถพัฒนาและเข้าถึงเทคโนโลยีของ HoloLens ได้ เพราะโดยพื้นฐานแล้วการพัฒนาระบบให้ HoloLens สามารถอ่านค่าและแสดงผลในมิติด้านต่าง ๆ ของการแพทย์ได้นั้น จะต้องพัฒนาโดยให้ HoloLens สามารถเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายไร้สายหรืออินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งการพัฒนาจะต้องใช้เวลาและทดลองอย่างจริงจังจนกว่าจะได้โปรแกรมที่สมบูรณ์และใช้งานได้อย่างหลากหลายมิติมากขึ้น ไม่ใช่เพียงการแสดงภาพ 3 มิติ เท่านั้น แต่ยังต้องพัฒนาในส่วนของแอปพลิเคชันเพื่อเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในกรณีที่จะใช้ HoloLens เพื่อประเมินการรักษาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่นั้น ๆ โดยการเชื่อมต่อนอกจากจะมีการแสดงผลที่ตรงกันแล้วยังต้องมีความสเถียรด้วย เพื่อให้การรักษาของทีมแพทย์เป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ที่สำคัญคือ ในการพัฒนาให้ HoloLens สามารถช่วยเหลือการรักษาได้จะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการทดลองใช้งานของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาจุดบกพร่องและสิ่งที่ต้องแก้ไขจากการใช้งานจริง จึงทำให้นี่คือหนึ่งในข้อจำกัดที่ทำให้ HoloLens ยังเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขในเมืองไทยสักเท่าไหร่
ในขณะเดียวกัน ในมิติของการสั่งซื้อ HoloLens เพื่อนำมาใช้งานในสถานพยาบาลแห่งต่าง ๆ นั้น ข้อจำกัดหลัก ๆ ก็คือเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูง บวกกับต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศเท่านั้น จึงทำให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะในประเทศไทย งบประมาณด้านสาธารณสุขยังไม่อาจจัดสรรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยสักเท่าไหร่ เมื่อนำมาประกอบกับการพัฒนาที่ยังไม่รุดหน้ามากพอ จึงทำให้ HoloLens ยังไม่อาจนำมาใช้ได้อย่างเป็นจริงเป็นจังในปัจจุบันนี้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยี HoloLens จะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่มีความสามารถค่อนข้างสูง สามารถต่อยอดให้ใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในมิติด้านการแพทย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในเมืองไทยนั้น ก็ยังคงมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการใช้งาน HoloLens ได้อย่างเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งก็ต้องดูต่อไปว่า ในอนาคตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีความจริงจังในการใช้งานและพัฒนามากน้อยเท่าไหร่ แล้ว HoloLens จะกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ด้านการแพทย์ที่มีใช้อย่างทั่วถึงได้หรือไม่