How social media work to conspiracy theory and people opinion?

1144

 

  • ความสำคัญของการสร้างความรุนแรงทางความคิดผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียส่งผลต่อกระบวนทัศน์ทางความคิดของคนมากน้อยแค่ไหน
  • ในปัจจุบันเราอยู่บนความเสี่ยงของการสร้างผลกระทบทางความคิดนั้นมากน้อยแค่ไหน
  • การสร้างความเกลียดชัง สร้างแหล่งข่าวปลอม ยังคงได้ผลมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สื่อมีความใกล้ชิดต่อความสัมพันธ์ของผู้คนอย่างแยกไม่ออกจนกลายเป็นส่วนนึงของชีวิต

ในปัจจุบันนี้ เราทุกคนหรือแม้กระทั่งคนใกล้ตัวของเราทุกคนย่อมหนีไม่พ้นการใช้โซเชี่ยลมีเดียที่แทบจะกลายเป็นศูนย์กลางทางความสัมพันธ์ ความคิด หรือแม้กระทั่งชุมชน คำถามคือ ทำไมเราทุกคนยังคงใช้โซเชี่ยลมีเดียในการเข้าหาผู้คน

ถ้าหากจะให้วิเคราะห์กันแบบคร่าวๆ เราอาจจะระบุได้ว่าถ้าหากชีวิตในโลกออฟไลน์ของเรามีความน่าพึงพอใจในระดับหนึ่ง คนนั้นก็จะไม่ใช้โซเชี่ยลกันมากนัก แต่เมื่อใดก็ตามที่เราประสบปัญหาหรือความยากลำบากในการใช้ชีวิต โซเชี่ยลมีเดียนี้เองจะเข้ามามีบทยาทในการตอบโจทย์สภาวะความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ (ซึ่งมันก็ทำเงินให้กับโซเชี่ยลมีเดียอย่างมหาศาล) 

และแน่นอนครับว่าในการใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียในฐานะการเติมเต็มความบกพร่องหนือเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตออฟไลน์ของเรา เราทุกคนล้วนอยากจะเห็นสิ่งที่เราอยากเห็น ทางโซเชี่ยลมีเดียจึงทำการจัดสรรสิ่งที่เราสนใจผ่านระบบอัลกอริทึ่มอันแสนชาญฉลาดของเฟสบุ๊ค แต่คำถามคือ สิ่งที่เราเห็นคือสิ่งที่ถูกต้องหรือความจริงในสังคมนั้นมากน้อยแค่ไหน

ก่อนจะลงลึกไปมากกว่านี้ ทางผู้เขียนขออธิบายการทำงานของระบบอัลกอริทึ่มของเฟสบุ๊คแบบคร่าวๆก่อนนะครับ

คำว่าอัลกอริทึ่ม (Algorithm) หลายคนอาจจะมองว่ามันคือโปรแกรม การ Coding หรือมันอาจจะเป็นเทคโนโลยีล้ำๆ ใช่ไหมครับ (แน่นอนว่าเราหลายคนคงคุ้นๆคำนี้มาจาก Captain America: The Winter Soldier) แต่จริงๆแล้วคำนี้ถ้าแปลแบบเข้าใจง่ายๆมันคือ กระบวนการแก้ปัญหาที่สามารถอธิบายออกมาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน เมื่อนำเข้าแล้วเราจะต้องได้ผลลัพธ์เช่นไร วิธีการเป็นขั้นตอนและมีส่วนที่ต้องทำแบบวนซ้ำ จนกระทั่งเสร็จสิ้นการทำงาน 

แต่ตัวอัลกอริทึ่มนั้น ตัวมันเองไม่ใช่คำตอบแต่เป็นชุดคำสั่งที่ทำให้ได้คำตอบและหาวิธีแก้ปัญหา หรือก็คือสูตรหรือการแก้ไขปัญหาตามลำดับขั้นตอน 

การนำขั้นตอนวิธีไปใช้แก้ปัญหา ไม่จำกัดเฉพาะการเขียนโปรแกรมครับ แต่สามารถใช้กับปัญหาอื่นๆได้เช่นเดียวกัน โดยเราอาจจะรู้จักกันแบบบ้านๆก็คือการอธิบายด้วยแผนผัง (Flow Chart) นี่แหละ

หรืออาจจะอธิบายอีกแบบก็คือ ผมมีแฟนและเราก็นัดทานข้าวกันและแฟนของผมก็มาสาย ระหว่างที่รอผมต้องทำการแก้ปัญหาตรงหน้าด้วยการสั่งอาหารให้แฟนของผม ในหัวของผมก็จะต้องทำการคำนวนยังไงให้เธอมาทานอาหารและเธอจะไม่โมโห เช่น อาจจะคำนวนจากการเลือกว่าแฟนของผมอาจจะชอบปลามากกว่าแฮมเบอร์เกอร์ และอาจจะคำนวนต่อไปอีกว่าถ้าเราเลือกปลาให้ และต่อมาก็อาจจะคำนวนจากช่วงเวลาว่าควรสั่งอะไรให้เธอทานถ้าเป็นช่วงเย็นก็ไม่ควรสั่งอาหารที่มีไขมัน มื้อก่อนหน้านั้นเธอทานอะไรที่เป็นปลามาก่อนหรือเปล่า เมนูจะได้ไม่ซ้ำกัน และท้ายที่สุดก็ดูที่เมนูต่อไปว่าเมนูอะไรที่เป็นปลาและไม่อ้วนและไม่ซ้ำกับเมนูเดิมที่เธอทานมา ดังนั้นการพยากรณ์จึงสำคัญมากที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ความชอบและความสุขต่อผู้ที่มีประสบการณ์ร่วมกับเรา

กลับมาต่อกันที่อัลกอริทึ่มของ Facebook 

การผลิตข้อมูลของ Facebook ต่อวันเนี่ย มันเยอะมากครับ เยอะจนการประมวลผลทั่วๆไปมันทำไม่หวาดไม่ไหว จนทำให้ Facebook ต้องมีการสร้างระบบ Ranking ขึ้นมา เพื่อวิเคราะห์ลำดับและความสำคัญว่าเราสนใจอะไร

และตัวระบบแรงค์กิ้งเนี่ยมันจะไปผลมีการจัดระบบหน้าฟีดข่าวของเราหรือที่เขาเรียกกันว่า Inventory เอาไว้แสดงข้อมูลในสิ่งที่เรากำลังดูอยู่

ระบบที่สองคือระบบ Signals หรือก็คือข้อมูลต้องได้รับการยืนยันก่อนได้รับการตัดสินใจหรือก็คือเรื่องนี้เก่ามากน้อยแค่ไหน มีการรับ Feedback เพื่อเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งไหนที่เป็นปัญหา เป็นสแปม คลิกเบต โดยทาง Facebook จะใช้ระบบ Signals ในการพยากรณ์หน้าฟีดในรูปแบบที่เราต้องการและระบบสุดท้ายคือระบบ Predictions เป็นระบบในการตรวจสอบว่าเราแชร์ คอมมเม้นหรือไปมี Interact กับสิ่งไหน อันไหน อะไรที่เราซ่อนหรือรีพอร์ต โดยจะนำสิ่งเหล่านั้นมาคำนวนและพยากรณ์สร้างสิ่งที่เราจะสนใจ หรือไม่สนใจออกมา

ต่อมาจะนำมาสร้างค่าน้ำหนัก และวัดคะแนนความเกี่ยวข้องและนำตัวเลขมาชี้วัดว่าเราเนี่ยกำลังสนใจสิ่งไหนอยู่ อ่านโพสต์ไหนเป็นระยะสั้นๆหรือใช้เวลาในระดับนึงในการอ่าน และนำเรื่องที่เราสนใจมาสร้าง Inventory โดยจะลำดับเรื่องราวผ่านทางสกอร์คะแนนทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ตรงกับที่เราสนใจอย่างน่าอัศจรรย์

ฟังดูเผินๆแล้วมันคือระบบที่ดีในการสร้างสรรค์และนำเสนอสิ่งต่างๆให้กับเราครับ แต่เราอาจจะลืมไปแล้ว ว่าระบบนี้เองก็เป็นดาบสองคมเช่นเดียวกัน

เพราะถ้าหากเราเลือกจะ Interact กับสิ่งที่มีความจริงแค่ด้านเดียวหรือข่าวปลอม ในหน้านิวส์ฟีดของเราจะเต็มไปด้วยข่าวปลอม ข่าวเท็จที่ถูกสร้างขึ้นมาครับ ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนก็คือข่าวเรื่องมะนาวโซดารักษามะเร็งที่เราคุ้นเคยกันนั้นแล

และที่อาจจะเลวร้ายไปมากกว่านั้นคือมันอาจจะสร้างแนวความคิดที่ทำให้คนรู้สึกคล้อยตามกันด้วยแนวความคิดที่น่าเชื่อถือหรือข่าวรวมๆที่อาจจะไม่มีมูลเหตุเท็จจริงขึ้นมาจนเกิดความเชื่อเป็นวงกว้างในสังคม เราสามารถเรียกโดยรวมแนวคิดนี้คือ

  • ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) หรือศาสตร์แห่งการนำทุกสิ่งมาร้อยเรียงกันด้วยความน่าเชื่อถือด้วยเหตุผลต่างๆหรือการมีข่าวมารองรับต่อแนวคิดของเรา หรือเราอาจเรียกได้ว่ามันคือ ความจริงที่ถูกปรุงแต่งโดยไร้ ซึ่งหลักฐานสนับสนุนที่เชื่อถือ
  • ซึ่งโดยตามหลักการ การอนุมาน ในทางตรรกศาสตร์นั้นวิธีที่ถูกต้องคือ อนุมานหรืออ้างอิง จากเหตุไปสู่ผล
    ตัวอย่าง : ความจริง คือ ฝนตกรถจึงติด แต่ถ้าหากเราอนุมานจาก เหตุไปหาผลก็คือ ถ้าหากฝนตกเราเชื่อได้อย่างแน่นอนว่ารถจะติด
    แต่ถ้าเราอนุมานในหลักการที่ผิด คือ จากผลไปสู่เหตุเราจะได้ประโยคที่ว่า ที่รถนั้นติดแสดงว่าฝนพึ่งจะตกไป ซึ่งผิดหลักการอย่างมากเพราะที่รถติดที่เราเจอนั้นอาจจะไม่ได้เกิดจากฝนตกก็ได้

ดังนั้นทฤษฎีสมคบคิด(Conspiracy Theory) เป็นการอนุมาน จากผลไปหาเหตุซึ่งในทางหลักการมันผิด  (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่เป็นเรื่องจริงซะทีเดียว) 
แต่มันคือการกำหนดคำตอบไว้ก่อนแล้วจึงหาเหตุผลมารองรับและเรื่องราวส่วนใหญ่ที่ใช้ “ทฤษฎี” นี้ในการวิเคราะห์มักจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่าคิด น่าสนใจ มันจึงทำให้เกิดการติดตามของคนหมู่มากและนำทฤษฎีนี้ไปเชื่อมโยงกันแบบผิดๆ จนทำให้เกิดเป็นทฤษฎีดังกล่าวขึ้นมา

ฟังดูเผินๆมันอาจจะไม่ได้เกี่ยวมีผลกระทบอะไรต่อคนหมู่มาก แต่ลึกๆมันคือการสร้างแนวความคิดชุดใหญ่ชุดหนึ่งแก่คนที่ใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียเพื่อเติมเต็มความไม่สมบูรณ์ในชีวิตออฟไลน์จนทำให้เขารู้สึกมีพื้นที่ มีตัวตนในโลกโซเชี่ยลมีเดีย จึงเชื่อความจริงที่ถูกปรุงแต่งนี้ขึ้นมา (หรือการสร้างทฤษฎีสมคบคิดหมู่แก่คนหมู่มาก)

ถ้าหากให้อธิบายง่ายๆก็คือ การใช้โซเชียลมีเดียเราจะต้องมีการนำข้อมูลของเราไปทำการหยิบยื่นมอบให้แก่เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียนั้นๆ โดยสิ่งที่โซเชี่ยลมีเดียจัดผ่านอัลกอริทึ่มให้แก่เราก็คือการจัดหมวดหมู่ให้ตามความสนใจของเรา 

และระบบต่อมาก็คือการสร้างความสัมพันธ์ของเราแก่เพื่อนในโซเชี่ยลมีเดีย เช่นเราอาจจะกดไลค์เพื่อนคนนี้บ่อย หรือไปคอมเม้นต์บ่อยๆ หน้ากระดานข่าวของทางตัวผู้เขียนเองก็จะมีแต่สเตตัส รูป หรือสิ่งที่เพื่อนคนนั้นทำการแชร์เข้ามา หรือเราอาจจะเรียกได้ว่าอัลกอริทึ่มของเฟสบุ๊คจึงเป็นลักษณะของสังคมที่ปรับระดับได้

มันจึงทำให้เกิดลำดับชั้นของความสัมพันธ์แก่เพื่อนในโซเชี่ยลมีเดียเพิ่มขึ้นไปอีก จึงกลายเป็นว่าตอนนี้ในหน้า News Feed ของเราเองจึงประกอบไปด้วยแหล่งข่าวที่มาที่เราสนใจแค่เพียงเท่านั้น และทำให้เราจดจ่ออยู่แค่สิ่งนั้นๆจนเชื่อว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เป็นจริงทั้งในสังคมออนไลน์และชีวิตจริง

  • มันจึงกลายเป็นว่าโซเชี่ยลมีเดียพยายามทำให้เรารู้หรืออยากได้ยินเฉพาะสิ่งที่เราเต็มใจที่จะรับรู้สิ่งนั้นและมันคงไม่เป็นปัญหา ถ้าหากสิ่งนั้นไม่ได้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหรือทำให้เกิดปัญหาต่อสังคม

และคำถามต่อมาก็คือถ้าหากนิวฟีดของเรามันถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีประสงค์ในการสร้างข่าวลวงล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น

แน่นอนครับว่าเราอาจจะต้องเชื่อในสิ่งนั้นในสักวันนึงดั่งสุภาษิตที่ว่าน้ำเซาะหิน สักวันก็ต้องกร่อน 

ถ้าหากให้ยกตัวอย่างการสร้างทฤษฎีสมคบคิดหรือการสร้างความเกลียดชังให้เห็นอย่างชัดเจนก็ก็คงหนีไม่พ้นกรณีของ บริษัท Cambridge Analytica และหาประโยชน์จากข้อมูลให้แก่ฝ่ายการเมืองช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ดังนั้นอัลกอริทึ่มของโซเชี่ยลมีเดียจึงเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมเชิงรับ (Passive Participation) แก่ผู้คนหรือหมายถึงการที่ผู้คนสามารถวิจารณ์เรื่องต่างๆแบบจำยอมโดยที่เขาอาจจะไม่ได้มีทางเลือกหรือพื้นที่ในการแสดงตัวตนของตัวเองมากอย่างที่ควรจะเป็น

การใช้ข้อมูลไปวิเคราะห์อาจจะไม่ผิดหรอกครับ แต่สิ่งที่ผิดคือการนำข้อมูลของลุกค้า(ที่ไม่ได้มีการยินยอม) ไปสร้างความเกลียดชังหรือสร้างโฆษณาชวนเชื่อแก่กลุ่มการเมืองต่างๆ 

  • ดังนั้นสิ่งที่สร้างให้เราเกิดข้อคำถามต่อมาก็คือนิยามของ “สื่อโซเชียลมีเดีย” ในฐานะสิ่งที่เชื่อมคนเข้าหากันนั้นจะเป็นอย่างที่เจ้าของบริษัทโซเชี่ยลมีเดียชอบเคลมนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ มันจึงทำให้เห็นได้ชัดว่าโซเชียลมีเดียและข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน และกลายเป็นเครื่องมือชั้นเลิศแก่กลุ่มการเมืองที่สร้างโฆษณาชวนเชื่อหรือทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างผลเชิงลบต่อสังคม

การเสพข่าวผ่านทางโซเชียลมีเดียในปัจจุบันนี้จึงควรมีการกลั่นกรองความจริง ออกจากความจริงที่ถูกสร้างโดยคนที่ป้อนให้เรามาอีกทีนึง

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราแล้วแหละครับว่าในเมื่อเราจ่ายการใช้โซเชี่ยลมีเดียด้วยข้อมูลส่วนตัวของเราแล้ว เราอยากจะให้โซเชี่ยลมีเดียชักจูงเรา หรือเราสร้างโซเชี่ยลมีเดียที่มีนิวฟีดที่สร้างโดยตัวของเราเอง