From TRADE war to TECH war

1697

หากนึกถึงความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบทั่วทุกมุมโลกแล้ว ก็คงจะต้องนึกถึงการคานอำนาจกันระหว่างสองขั้วอำนาจใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกากับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งหากใครที่ติดตามข่าวสารและเห็นวาทกรรมเดือด ๆ ของผู้นำประเทศทั้งสองคนแล้ว ก็คงจะต้องกลืนน้ำลายไม่ลงคอกันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น เราจะมาลองรื้อต้นตอและวิเคราะห์สภาพสงครามของขั้วอำนาจใหญ่ ว่าจริง ๆ แล้ว อะไรที่ทำให้เกิดปมความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบกันทั้งโลกได้ถึงเพียงนี้ แล้วท้ายที่สุดจุดจบของปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง 

รากเหง้าความขัดแย้งของสองขั้วมหาอำนาจใหญ่

ในรอบปี 2018 ที่ผ่านมา นับว่าหนึ่งในปัญหาที่สร้างความกดดันให้กับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก คงจะหนีไม่พ้น “สงครามการค้าโลก” หรือก็คือ “Trade War” ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างขั้วอำนาจใหญ่อย่าง “สหรัฐอเมริกา” และ “จีนแผ่นดินใหญ่” แน่นอนว่า นี่คือปัญหาที่ทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องได้รับผลกระทบพอ ๆ กับไฟลามทุ่งกันเลยทีเดียว 

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดเลยก็คือ “ความเชื่อมั่นในการลงทุน” ที่จะลดลง และเข้าสู่สภาวะการณ์ “รอดูสถานการณ์” ก่อนตัดสินใจลงทุน แน่นอนว่า เมื่อเกิดการชะลอตัว บริษัทก็ต้องสวิตช์ตัวเองเข้าสู่กาวะที่คล้ายกับกบจำศีลที่ต้องลดการใช้พลังงานเพื่อรักษาชีวิต เหมือนกับบริษัทต่าง ๆ ที่จะต้อง “Lay Off พนักงาน” หรืออาจจะ “ชะลอตัวลง” เพื่อ “รักษาชีวิตของบริษัท” และนี่ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ยังไม่นับรวมมูลค่าของสินค้า การส่งออก และต้นทุนการผลิตที่อาจจะเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ

หากลองรื้อต้นตอและรากเหง้าของความขัดแย้งด้านการค้าในปี 2018 นั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะพึ่งเกิดขึ้นเสียทีเดียว เพียงแต่มีกระแสที่ลุกโชนในปีที่ 2018 เท่านั้น โดยจุดชนวนจริง ๆ ของปัญหาที่ก่อให้เกิดสงครามการค้านั้น ก็ดูเหมือนเริ่มมีประกายไฟมาตั้งแต่สมัยที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เริ่มหาเสียงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีเสียอีก ซึ่งในตอนที่หาเสียงเขาก็ได้สร้างวาทกรรมหนึ่งขึ้นมา คือคำพูดที่ว่า “Make America Great Again” แปลง่าย ๆ เลยก็คือ “อเมริกาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” จริงอยู่ที่ว่าดูเผิน ๆ ก็คงจะไม่ได้มีอะไรมากมาย แต่เชื่อหรือไม่ว่าวาทกรรมนี้สามารถเรียกคะแนนเสียงจากประชากรได้อย่างล้นหลาม และเมื่อเขาชนะการเลือกตั้งแล้ว สิ่งแรกที่จะทำเลยก็คือ “การทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน” 

โดยเริ่มแรกที่ทรัมป์ได้ดำเนินงานโดยยึดนโยบาย “การค้าที่เป็นธรรม ต่างตอบแทน และอเมริกาต้องมาก่อน” เป็นลำดับแรก ๆ แน่นอน หวยจะออกที่ใครเป็นไม่ได้ หากไม่ใช่ประเทศที่อยู่ในโหมด “ได้เปรียบ” ซึ่งก็คือ “แดนมังกร” หรือ “จีนแผ่นดินใหญ่” นั่นเอง แถมนโยบายที่ทรัมป์ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจนั้นก็คือ ลดการเสียดุลเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มที่เพิ่มการ “เก็บภาษีนำเข้า” ของจีนจาก 10% เป็น 25% หากตีเป็นจำนวนเงินก็อยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเป็นเงินไทยแล้วก็คงจะราว ๆ 6.1 ล้านล้านบาท จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมาตรการนี้ถึงทำให้จีนไม่อาจนิ่งเฉยได้ แถมยังต้องหาทางโต้กลับให้แสบสันไม่ต่างกัน เริ่มต้นจากการ “เพิ่มภาษีนำเข้า” ในอัตราเท่า ๆ กับที่สหรัฐเรียกประกาศออกมา แถมสินค้าที่โดนผลกระทบไปเต็ม ๆ ก็คือ “สินค้าการเกษตร” นั่นเอง 

แน่นอนว่า จากกรณีที่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของทั้งฝั่งสหรัฐและจีน ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่อาจหาทางยุติได้ เพราะทั้งสองฝ่ายก็ยังคงคอนเซ็ปต์ “ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ” อยู่เสมอมา จนทำให้หลาย ๆ ประเทศที่มีดุลการค้ากับทั้งทางจีน หรือแม้แต่สหรัฐเองก็ต้องเข้าสู่โหมด “รอดูสถานการณ์” ทั้งการนำเข้า การส่งออก และการผลิต เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญอย่างไม่อยากหลีกหนีได้ เพียงแต่จะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้น ๆ เน้นเศรษฐกิจด้านใดบ้าง เช่น หากเป็นประเทศไทยสิ่งที่กระทบมากที่สุดในปีที่ผ่านมาก็คือ  การส่งออก Solar Cell และเครื่องซักผ้านั้น มีอัตราที่ลดน้อยลง ตามมาด้วยผลกระทบจาก Supply Chain โดยเฉพาะยางพาราและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่อาจส่งออกได้ในจำนวนเท่าหรือมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อราคาต้นทุนในประเทศที่ถูกตามไปด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็คงไม่เห็นชาวสวนยางพาราบ่นกันว่าราคาไม่ขึ้นเสียที มีแต่ลดเอา ๆ เรียกว่า ผลผลิตมากขึ้นความต้องการลดลง จึงทำให้ราคาถูกตามไปด้วยนั่นเอง 

 

การประกาศสงครามให้โหมกระหน่ำ รหว่างสหรัฐกับแดนมังกร 

แน่นอนว่า จากสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น มองเผิน ๆ อาจจะมีแค่เรื่องของการค้าและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว นี่เป็นเพียงเส้นทางที่นำไปสู่การประกาศสงครามที่ใหญ่กว่าอย่าง “สงครามเทคโนโลยี” หรือก็คือ “Tech War” นั่นเอง 

อย่างที่ทราบไปในเบื้องต้นแล้วว่า มาตรการรักษาผลประโยชน์ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็คือการเพิ่มภาษีนำเข้าของประเทศที่ได้เปรียบและมีอำนาจเทียบเท่ากับสหรัฐอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ และเมื่อทาง “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีของจีนได้โต้กลับในลักษณะของการเพิ่มภาษีนำเข้าเหมือน ๆ กัน แต่ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะสิ้นสุดและลงตัวได้อยู่แล้ว เมื่อทั้งทาง “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “สี จิ้นผิง” ได้มีการนัดหมายตกลงและลงนามเพื่อยุติปัญหาสงครามทางการค้านี้ หากแต่กลายเป็นว่านี่คือการประกาศสงครามของมหาอำนาจใหญ่อย่างเป็นทางการ เมื่อทางทรัมป์เลือกที่จะหักปากกาและประกาศให้มีการขึ้นภาษีนำเข้าอย่างเป็นทางการ จนทำให้การทำข้อตกลงนั้นถูกยุติและไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกทันที ชนิดที่เหมือนกับลากจีนมาตบกลางสี่แยกไฟแดงเลยก็ว่าได้ 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรื่องราวจะจบเพียงเท่านี้ เพราะในช่วงปลายปีทางการแคนาดาได้จับกุม “เหมิ่ง หวันโจว” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของ Huawei หลังจากที่ทาง Huawei ได้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งจุดที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้ได้มีการทำข้อตกลงการค้าใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา เพราะฉะนั้น เมื่อทางแคนาดาจับกุมประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของ Huawei ได้ ก็เท่ากับว่าต้องมีผลที่ส่งผลกับสหรัฐอยู่แล้ว และนี่ก็เป็นชนวนที่ทำให้สหรัฐนำประเด็นดังกล่าวมาตีกลับจีน โดยเฉพาะเรื่องของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี จะเรียกว่า Huawei เป็นหมากในเกมที่สหรัฐวางไว้เพื่อคานอำนาจกับจีนก็ไม่ผิดนัก แน่นอนว่า การเริ่มต้นเดินหน้าเข้าสู่สงครามทางเทคโนโลยีนั้น ก็เริ่มจากการประกาศห้ามไม่ให้ Huawei ขายสินค้าและบริการในสหรัฐทันที ไม่วายยังเพิ่มให้ Huawei เข้าไปอยู่ในรายการบัญชีดำอีกต่างหาก เรียกว่าใครที่ใช้สินค้าของ Huawei ก็ต้องคิดหนักไม่มากก็น้อย 

และดูเหมือนทางจีนก็ไม่ได้นิ่งเฉยนั่งจิบชาชิลล์ ๆ แต่อย่างใด เพราะทางผู้นำจีนเองก็ได้ประกาศออกมาว่า “คว่ำบาตรเรา เราไม่ให้แร่ผลิตชิป” ซึ่งแร่ที่ว่านั้นก็คือ “แร่แรร์เอิร์ธ” ที่ทางจีนมีฐานผลิตใหญ่ของโลก แน่นอนว่าประเทศอื่น ๆ ต่างก็ต้องนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธด้วยกันทั้งสิ้น แถมเมื่อทางจีนประกาศอย่างชัดเจน ก็ทำให้สหรัฐแทบจะต้องหน้าหงายเลยทีเดียว เพราะนั่นหมายถึงทุกอย่างที่ใช้ชิป อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฮเทค ไม่เว้นแม้แต่การพัฒนาเทคโนโลยีและเครือข่ายไร้สายอย่าง 5G และปัญญาประดิษฐ์อย่าง AI ก็จะถูกชะลอตัวลงไปด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงทำให้ทรัมป์เลือกที่จะกลับลำโดยการเลื่อนขยายเวลาไปอีก 3 เดือนทันที ในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ทางการจีนประกาศออกมาเท่านั้น เรียกว่านี่เป็นข่าวเด่นที่ดังมาก ๆ ในปีนี้เลยก็ว่าได้ 

การเดินหน้าสู่มหาสงครามทางเทคโนโลยี 

เมื่อเกิดกระแสของการตอบโต้ในกรณีของ “Huawei” และ “แร่แรร์เอิร์ธ” จึงทำให้เกิดภาวะการไม่ลงรอยจนเรียกว่าเป็น “สงครามทางเทคโนโลยี” แทบจะทันทีทันใด ซึ่งหากลองวิเคราะห์ดูดี ๆ แล้ว จะพบว่า สิ่งที่ทำให้ “Huawei” เป็นหมากสำคัญในสงครามนี้ หลัก ๆ ก็คือ เรื่องของเทคโนโลยีที่ทาง Huawei เป็นต่อบริษัทอื่น ๆ อยู่ ไม่เว้นแม้แต่ส่วนแบ่งการตลาด ที่ในไตรมาสที่ผ่านมาก็ดูท่าว่า Apple จะมีส่วนแบ่งที่น้อยกว่า Huawei ไปเสียอย่างนั้น 

และจะเห็นได้ว่า Huawei นั้น มียุทธศาสตร์ในการพัฒนา 5G ซึ่งในอนาคตจะเป็นเครือข่ายไร้สายที่เร็วและแรงที่สุดในโลก ทั้งยังถือครองสิทธิบัตรเทคโนโลยี 5G มากถึง 16,000 ชิ้น มากกว่าที่สหรัฐมีเสียอีก จึงทำให้ Huawei เปรียบเสมือนลูกรักของจีน ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศจีนก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกได้ ยังไม่นับรวม AI ที่ทางการจีนนำมาใช้ในประเทศอย่างเปิดเผยมากกว่าที่สหรัฐหรือประเทศอื่น ๆ ในโลกใช้เสียอีก ทั้งที่ก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องของ AI และก็ดูเหมือนว่าประเด็นการพัฒนา 5G ของ Huawei นี้เอง ที่ทำให้ทางสหรัฐเลือกที่จะผลักดันการพัฒนาเครือข่ายไร้สายที่เหนือกว่าอย่าง 6G ให้สำเร็จก่อน ดังที่ทรัมป์ได้เคยทวีตส่วนตัวเอาไว้ก่อนหน้านี้  

แน่นอนว่า หาก Huawei สามารถขึ้นเป็นผู้นำด้าน 5G และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เป็นผลดีกับทางการจีนได้จริง มีหรือที่ทางสหรัฐจะไม่หาทาง “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” เพื่อขัดขาไม่ให้จีนสามารถควบคุมเครือข่ายข้อมูลของทั้งโลกได้สำเร็จ โดยเฉพาะการคุมเข้มให้เกิดการคว่ำบาตรสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็น การสั่งห้ามไม่ให้บริษัทที่ผลิตชิปอย่างเช่น Intel และ NXP ส่งสินค้าให้กับ Huawei รวมไปถึงผลักดันให้ประเทศพันธมิตรด้านความมั่นคงคว่ำบาตรจีนตามไปด้วย ซึ่งหากมาตรการนี้สำเร็จจริง ๆ สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ บริษัทที่เป็นพันธมิตรของ Huawei ทั้งหลายต้องยุติการทำการค้าด้วย ในขณะที่ลูกค้าคนสำคัญของ Huawei เองก็จะประสบกับปัญหาการขาดชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าของตนเอง และเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นจริง การดำเนินงานของ Huawei ก็ต้องยุติหรือชะลอตัวลง ตั้งแต่การพัฒนา 5G AI โทรศัพท์มือถือ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จะใช้เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีของจีนแทบจะทั้งหมด ผลที่ตามมาอีกต่อหนึ่งก็คือ จีนจะไม่สามารถขึ้นแท่นเป็นประเทศมหาอำนาจได้ จึงเป็นเหตุผลที่มหาสงครามทางเทคโนโลยีนี้ยังไม่อาจสิ้นสุดหรือยุติได้ จนกว่าที่ทางสหรัฐและจีนจะสามารถเจรจากันได้สำเร็จ 

จากภาวะสงครามทั้งการค้าและเทคโนโลยี ที่มีต้นตอมาจากมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีนนั้น นับเป็นปัญหาที่ “เรื้อรัง” และเป็น “ไฟลามทุ่ง” ที่ยาวต่อเนื่องกันไม่ใช่น้อย จริงอยู่ที่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสองอำนาจใหญ่ของโลกเท่านั้น หากแต่กลับเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อนานาอารยประเทศอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการเสียดุลการค้า หรือแม้แต่สภาวะของเศรษฐกิจโดยภาพรวม แต่ก็เป็นที่น่าสนใจอีกว่าทางออกจริง ๆ นั้นจะเป็นไปในทิศทางใดกันแน่ ระหว่างการที่สหรัฐอเมริกายังคงความเป็นที่หนึ่งเช่นเดิม กับการเสียตำแหน่งให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ และหากจีนสามารถขึ้นสู่อันดับหนึ่งได้จริง จะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ที่แน่ ๆ ที่พอจะคาดเดาได้ก็คือ เรื่องของเทคโนโลยี และการบังคับใช้ของประเทศที่อยู่ใต้อำนาจจีนโยตรง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศฮ่องกง ที่อยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” อยู่ในตอนนี้