
สึนามิลูกใหม่ของคนใช้บัตร กับเงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อด้วย Blockchain
เชื่อว่าหนึ่งในปัญหาของคนใช้บัตร โดยเฉพาะบัตรเครดิตนั้น ก็คือการ “จำกัดวงเงิน” และ “การเข้าถึงข้อมูล” ของตนเอง เช่นเดียวกับธนาคาร ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของ “ความเชื่อมั่น” และ “ความไว้ใจ” ต่อลูกค้า เพราะกว่าจะอนุมัติสินเชื่อหรือแม้แต่วงเงินในบัตร ก็คงต้องมีกระบวนการที่ดูจะยุ่งยากไม่ใช่น้อย ที่สำคัญธนาคารเองก็ต้องรักษา “ความปลอดภัย” ของข้อมูลทั้งหมดไปพร้อม ๆ กัน แต่จะดีกว่าไหม หากธนาคารจะมีแนวทางที่ช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เรียกกันว่า “Blockchain” มาใช้แก้ไขปัญหาทั้งหมดในระบบการเงิน
เทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ กับบทบาทด้านการเงินของ Blockchain
หากกล่าวถึงเทคโนโลยีหรือแม้แต่ระบบที่ขึ้นชื่อว่าปลอดภัยแล้ว หลายคนก็คงจะไปนึกถึงขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยแบบทั่วไป อาทิ เวลาจะเข้าใช้ E-mail ก็อาจจะต้องยืนยัน Username Password หรือแม้แต่ Pin Code ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นเพียงการรักษาความปลอดภัยในขั้นต้นเท่านั้น แต่ยังไม่ถึงขั้นที่สามารถเก็บข้อมูลภายในไม่ให้รั่วไหลได้ โดยเฉพาะเวลามีคนอื่นพยายามเข้าใช้ระบบเพื่อนำข้อมูลไปใช้หาผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งก็มีเหตุการณ์ตัวอย่างให้เห็นในปัจจุบันอยู่ไม่ใช่น้อย อาทิ การแฮก Facebook เพื่อเข้าไปปลอมเป็นเจ้าของบัญชี แล้วนำไปกระทำบางสิ่งบางอย่างโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ได้อนุญาต
เช่นเดียวกับข้อมูลทางการเงินของเจ้าของบัญชี ที่ต้องการให้ข้อมูลทุก ๆ อย่าง ของตนเองนั้นเป็น “ความลับ” เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารเองก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเลยหากจะเอาข้อมูลภายในออกมาหาผลประโยชน์ เพราะไม่เช่นนั้นก็คงจะไม่เห็นบริษัทประกันภัยโทรมายื่นข้อเสนอดี ๆ ให้ ทั้งที่ก็ไม่เคยไปสมัครประกันอะไรไว้กับใคร ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็คือข้อจำกัดของระบบการเก็บข้อมูลที่อาจจะยังไม่ครอบคลุมในเรื่องความปลอดภัยมากพอ
เพราะเหตุนี้ ด้วยความต้องการเพิ่มศักยภาพด้าน “ความปลอดภัย” ของข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นี้เอง จึงทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเก็บข้อมูลที่เรียกว่า “Blockchain” ขึ้นมา เพื่อคงความ “เชื่อมั่น” หรือ “Trust” ให้กับสถาบันการเงิน ตลอดจนช่วยยกระดับของคุณภาพในการบริหารและการจัดการขององค์กรได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยให้การดำเนินงานของสถาบันการเงินเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากกว่าที่เคย เพราะไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้เอกสารในรูปแบบของกระดาษเหมือนที่ผ่านมา
ที่สำคัญคือ Blockchain สามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลได้ว่าจะเลือกใช้แบบ “เปิดเผย” หรือแบบ “ปิดบัง” แต่ข้อดีที่ดูจะเด่นชัดที่สุดของ Blockchain ก็คือ ความยากในการแก้ไขข้อมูลที่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ เหมือนระบบการเก็บข้อมูลอื่น ๆ เพราะต้องผ่านการ “ยอมรับ” จากข้อมูลชุดอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากการเก็บข้อมูลของ Blockchain ก็จะเหมือนกับการนำโซ่มาคล้องต่อ ๆ กัน จากห่วงแรกสู่ห่วงที่สอง โดยที่ห่วงที่สองต้องเก็บสำเนาของห่วงแรกเอาไว้ และเป็นเช่นนี้กับทุก ๆ ชุดข้อมูล เรียกว่าเป็นการเก็บข้อมูลที่สามารถสืบสาวหาต้นตอได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น
ฉะนั้น การแก้ไขข้อมูลในรูปแบบของ Blockchain จึงดูจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะหากจะแก้ไขจุดใด นั่นแสดงว่าต้องรื้อจากจุดที่ต้องการแก้ไขไปจนถึงจุดล่าสุด โดยทุกครั้งที่มีการแก้ไขก็จะต้องมีชุดข้อมูลซึ่งเป็นห่วงโซ่ใหม่เพิ่มขึ้นมาเสมอ ซึ่งกระบวนการนี้เองถือเป็นการเพิ่มขีดความ “โปร่งใส” และ “ถูกต้อง” ของข้อมูล ทั้งยังช่วยให้โซ่ทุกห่วงคล้องกันได้อย่างเหนียวแน่นเหมือนเดิม เช่นเดียวกับข้อมูลด้านการเงินที่หากใช้ในรูปแบบของ Blockchain แล้ว ก็นับว่าเป็นหนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพราะนั่นหมายความว่า ข้อมูลทางการเงินของทุก ๆ คน หรือทุก ๆ องค์กร จะอยู่ในลักษณะของ “ความถูกต้อง” และ “ชัดเจน” โดยที่เพิ่มขีดของ “ความปลอดภัย” ให้มากกว่าที่เคย ที่สำคัญคือไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครไปเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลบางอย่างหากไม่ได้รับการ “ยินยอม” อีกต่อไป
โมเดลธุรกิจการเงิน กับการพิจารณาสินเชื่อด้วย Credit Scoring
เชื่อว่าคงมีเหล่าคนใช้บัตรเครดิตจำนวนไม่น้อย ที่อาจจะได้ยินคำว่า “แต้มสะสมคะแนนบัตรเครดิต” มาก่อน และก็คงจะเกิดคำถามว่าการใช้บัตรเครดิตจำเป็นต้องมีคะแนนด้วยหรือ ทั้งที่แค่จ่ายตรงเวลาและจ่ายครบก็น่าจะเพียงพอ แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วก่อนที่สถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่ออะไรสักอย่าง มักจะมีตัวแปรที่เรียกกันว่า “Credit Scoring” หรือ “คะแนนเครดิต” อยู่ แถมดูแล้วจะมีผลกระทบต่อเหล่าคนใช้บัตรไม่ใช่น้อย
คำว่า “Credit Scoring” นั้น แปลง่ายๆ ก็คือ “คะแนนเครดิต” หรือหากกล่าวให้เข้าใจแบบเชิงลึก ก็คือ แบบจำลองหรือเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการทางสถิติ ที่ในการจัดการข้อมูลเพื่อกำหนดเป็นค่าคะแนนของเจ้าของบัตร โดยความสำคัญของ Credit Scoring ก็คือ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดขีดความสามารถในการชำระหนี้คืน ซึ่งก็จะนำไปสู่การอนุมัติวงเงินของบัตรเครดิต ตลอดจนการอนุมัติสินเชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อรถยนต์ส่วนตัว การซื้อบ้าน การซื้อคอนโด และการจับจ่ายใช้สอยอื่น ๆ ที่มีคำว่า “เงิน” เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจหากจะรู้สึกว่าเหล่าคนใช้บัตรเครดิตนั้นมีวงเงินที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง นาย A กับ นาย B ทำงานเป็นพนักงานเอกชน โดยที่มีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท เหมือนกัน ซึ่งทั้งสองคนได้ไปทำบัตรเครดิตที่ธนาคารเดียวกัน และเมื่อใช้งานไปได้ประมาณ 1 ปี ปรากฏว่าวงเงินในบัตรของนาย A กลับต่ำกว่านาย B ถึง 10,000 บาท เวลาจะไปกู้เงินซื้ออะไรสักอย่าง กลับกลายเป็นว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาสินเชื่อนานกว่าอีกฝ่าย ทั้งนี้ ก็มาจากผลของการประเมิน Credit Scoring จากการชำระเงินครบตามกำหนด การตรงต่อเวลาในการชำระบัตรเครดิต ไปจนถึงความสม่ำเสมอและความมีวินัยทางการเงินของทั้งสองคนที่แตกต่างกัน เรียกว่าเป็นหนึ่งในโมเดลของระบบการทำงานของสถาบันการเงิน ที่วางเอาไว้เพื่อกำหนดขอบเขตและควบคุมความเสี่ยงทางการเงินนั่นเอง
พฤติกรรมการใช้โซเชียลเป็นเหตุ สู่การปรับเปลี่ยนระบบทางการเงิน
หากลองวัดระดับของพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยนั้น ก็คงจะพอคาดเดาได้ไม่ยากว่ามีอัตราที่ค่อนข้างสูงไม่ใช่น้อย เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็มักจะมีสื่อโซเชียลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เรียกว่าตั้งแต่ตื่นนอนยันก่อนนอนเลยทีเดียว หากไม่เชื่อก็ให้ลองสำรวจตัวเองดูว่า ตอนตื่นนอนนั้นสิ่งแรกที่จับคืออะไร? เชื่อว่าร้อยละ 95 ก็คงจะตอบว่าจับโทรศัพท์เป็นลำดับแรก และหลังจากที่จับโทรศัพท์ก็มักจะตามมาด้วยการปิดนาฬิกาปลุก การเช็กแจ้งเตือนต่าง ๆ ของสื่อโซเชียลมีเดีย ตลอดจนนั่งไถไทม์ไลน์ของ Facebook Instagram หรือแม้แต่ Twitter เพื่ออัปเดตข่าวสารใหม่ ๆ ที่น่าสนใจในวันนั้น
แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทย เพราะแท้จริงแล้ว ยังมีพฤติกรรมการใช้งานด้านอื่น ๆ อยู่อีกมากโข อาทิ การค้นหาร้านอาหาร หรือแม้แต่การช้อปปิ้ง ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ นับว่าเป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนระบบทางการเงินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ซื้อของที่ไหน หรือแม้แต่ชำระค่าอะไรก็ตาม ก็สามารถทำธุรกรรมผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้แล้ว เพียงแค่มีแอปพลิเคชันของธนาคารก็นับว่าเพียงพอ ดังนั้น จึงทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบทางการเงินที่เรียกกันว่า “Social Credit Score” หรือก็คือการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องราวทางการเงิน โดยจะพยากรณ์จากพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนในปัจจุบันควบคู่กันไปด้วย
ซึ่งข้อดีของการนำ Social Credit Score มาใช้ ก็เพื่อให้ง่ายต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องเครดิตทางการเงินของผู้ที่ยังไม่มีเครดิต หรืออาจจะยังมีเครดิตไม่ดีพอต่อการขออนุมัติสินเชื่อในการใช้บัตรเครดิต แน่นอนว่า การนำ Social Credit Score มาใช้พิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน ก็จะกลายเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่กักเก็บเอาไว้ใน Blockchain ของสถาบันการเงินเช่นกัน
ยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ เลยก็คือ แต่เดิมการอนุมัติสินเชื่อหรือวงเงินในบัตรเครดิต จะต้องพิจารณาจากรายได้ พฤติกรรมการชำระเงิน และคะแนนการประเมิน Credit Scoring โดยที่จะมีเอกสารต่าง ๆ ไปให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารพิจารณาและอนุมัติ เพราะฉะนั้น เมื่อนำ Blockchain มาใช้แล้ว ก็จะกลายเป็นว่า เอกสารต่าง ๆ รวมไปถึงข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวทางการเงินจะถูกกักเก็บในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัลทั้งสิ้น ซึ่งธนาคารก็จะนำข้อมูลที่ Blockchain ประเมินออกมาในลักษณะของ Credit Scoring ไปใช้ในการอนุมัติสินเชื่อรวมไปถึงวงเงินในบัตรเครดิต โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปสืบสาวหาต้นตอเพื่อหา “ความถูกต้องของข้อมูล” ที่ลูกค้าแจ้งเอาไว้เหมือนที่ผ่านมา
โดยผลกระทบของคนใช้บัตรเครดิตนั้น หลัก ๆ แล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นข้อจำกัดของการขอสินเชื่อกับทางสถาบันการเงิน ที่ไม่อาจสามารถแก้ไขหรืออัปเดตข้อมูลภายในได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของตนเองได้ง่ายมากขึ้น อาทิ การเข้าถึงข้อมูล Credit Scoring ว่าจะส่งผลให้วงเงินในบัตรเครดิตหรือการขอสินเชื่อเป็นไปในทิศทางใดได้บ้างในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่หากเป็นกลุ่มผู้ใช้รายย่อย ที่ยังไม่มีคะแนนเครดิตก็จะสามารถเข้าถึงการขอสินเชื่อและระบบทางการเงินได้มากกว่าที่เคย ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตได้ด้วยเช่นกัน และที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าสถาบันการเงินจะพัฒนา Blockchain ให้เป็นไปในทิศทางใดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว “ความปลอดภัย” ก็จะยังเป็นหัวใจสำคัญเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถาบันการเงินทั้งในไทยหรือต่างประเทศจะนำระบบการเก็บข้อมูลอย่าง Blockchain มาใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่นั้น ก็ไม่น่าสนใจเท่ากับผลกระทบที่คล้ายสึนามิของเหล่าผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะการแก้ไขข้อมูลของสถานะทางการเงินที่ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน หาก Social Credit Score ถูกพัฒนาให้ควบคู่ไปกับการทำงานของ Blockchain จริง ก็คงจะเป็นการพัฒนาที่ส่งผลต่อระบบทางการเงินไม่ใช่น้อย เพราะนั่นแสดงว่าคนทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าถึงเงินแหล่งทุนและสินเชื่อได้ตามต้องการ เรียกว่า เป็นการเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรด้วยเทคโนโลยีเสมือนกับประเทศเอสโตเนียเลยก็ว่าได้