AR, create new advantage in your business.

2167

นับตั้งแต่ที่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางเริ่มมีการกระจายตัวมากขึ้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแข่งขันในตลาดเองก็ย่อมสูงมากขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจสามารถหายใจต่อไปได้อย่างสง่างามนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นการสร้างเอกลักษณ์และจุดขายให้กับแบรนด์ของตนเอง ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้ธุรกิจมีอัตลักษณ์ได้นั้น ก็คือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้ถูกจุด และเทคโนโลยีที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือ AR หรือก็คือ เทคโนโลยีความเป็นจริงประดิษฐ์ 

ธุรกิจในปัจจุบันกับการสร้างจุดขายให้เหนือกว่า 

สำหรับธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือแม้แต่ขนาดใหญ่ นับว่ามีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เหล่านี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้น ก็คือการสร้างเอกลักษณ์และจุดขายของธุรกิจให้โดดเด่นและเป็นที่น่าจดจำของตลาด โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กไปถึงขนาดกลาง ที่จะต้องอาศัยเทคนิคหรือแนวทางใดทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นการยากที่จะให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ใกล้เคียงคำว่า “เจ๊ง” หรือ “ขาดทุน” 

โดยหลัก ๆ แล้ว การที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไปได้ในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้ อย่างแรกเลยก็คือ การสร้างจุดยืนให้กับแบรนด์ของตัวเอง เพราะถือเป็นก้าวที่จะช่วยให้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ที่สำคัญคือ ธุรกิจจะต้องสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาเพื่อให้เกิดภาพจำ จนกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ติดตลาด อย่างเช่น หากเป็นธุรกิจร้านกาแฟ จะสังเกตได้เลยว่าร้านที่สามารถดำเนินกิจการมามากกว่า 4-5 ปี จะไม่มีวี่แววของคำว่า “ขาดทุน” อย่างแน่นอน ในขณะที่ร้านกาแฟที่เปิดขึ้นมาใหม่กลับมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะเปิดกิจการตามกระแสของสังคม โดยที่ยังไม่มีจุดยืนหรือเอกลักษณ์ของร้านที่ชัดเจนพอ อย่างเช่น ร้านกาแฟที่เปิดใกล้มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษา เอกลักษณ์ที่สำคัญก็คือเรื่องของการบริการ ราคาจำหน่าย การตกแต่งร้านที่เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากกว่าวัยทำงาน หรือหากเทียบกับร้านกาแฟที่อยู่ตามชนบทห่างไกลจากตัวเมือง จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้ลูกค้าแวะเวียนไปไม่ขาดสาย สามารถขายสินค้าและบริการต่อไปได้แม้จะอยู่ห่างไกลนั้น ไม่ใช่เพียงรสชาติของกาแฟเพียงอย่างเดียวที่เป็นเอกลักษณ์ของร้าน แต่จะต้องมีเอกลักษณ์อย่างอื่นพ่วงมาด้วย อาทิ ทิวทัศน์ บรรยากาศ สินค้าโฮมเมดที่มีขายเฉพาะร้าน หรือแม้แต่สไตล์การตกแต่งร้านที่แตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอัตลักษณ์ของธุรกิจ ที่จะช่วยให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่ต้องมานั่งแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด เพราะสามารถยืนหยัดได้ด้วยเอกลักษณ์ของธุรกิจที่ชัดเจนนั่นเอง  

นอกจากนี้ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าและเติบโตขึ้นได้ ก็คือเรื่องของ “คุณภาพ” ที่จะต้องชัดเจน ไม่แกว่งไกวไปมาตามกระแสของตลาด จะสังเกตได้ว่าในปัจจุบันธุรกิจสินค้าออนไลน์นั้นผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดและเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ เพราะโดยส่วนมากแล้วธุรกิจในลักษณะนี้จะมีกระแสแบบประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็หายไป หลังจากนั้นก็จะมีธุรกิจที่คล้ายคลึงกันผุดขึ้นมาแทนที่ แล้วก็จะหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ตามวัฏจักร ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น ก็เป็นผลอันเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจตามกระแสของสังคม ไม่มีจุดยืนและจุดขายที่ชัดเจน ซึ่งก็นำมาสู่คุณภาพที่ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ 

พัฒนาการด้านเทคโนโลยีความเป็นจริงประดิษฐ์ กับการก้าวข้ามข้อจำกัดของธุรกิจ 

สำหรับเทคโนโลยีความเป็นจริงประดิษฐ์ หรือที่เรียกว่า AR (Augmented Reality) นั้น นับเป็นเทคโนโลยีที่ถูกต่อยอดมาจาก VR (Virtual Reality) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เทคโนโลยีเสมือนจริง โดยจุดเด่นของ AR ก็คือการนำสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่ออกแบบขึ้นมาวางซ้อนทับกับสภาพความเป็นจริงในขณะนั้น เรียกว่าเป็นการนำโลกแห่งจินตนาการมาวางซ้อนกับโลกแห่งความเป็นจริงอีกทีหนึ่ง เพื่อสร้างภาพที่จะเกิดขึ้นให้เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด 

แน่นอนว่า หากให้จินตนาการก็คงจะนึกภาพตามได้ยาก แต่หากให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดมากที่สุด ก็คือเกมที่ฮิตในช่วงที่ผ่านมาอย่าง Pokémon Go ที่สร้างกระแสไวรัลได้ดีทีเดียว ชนิดที่เดินไปทางไหนก็จะเจอกับคนถือสมาร์ทโฟนแล้วเดินล่า Pokémon ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งลักษณะนี้ก็คือหนึ่งในการทำงานของ AR ที่สร้างตัวละครขึ้นมาแล้วให้ไปวางตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่เมื่อมองภาพผ่านจอสมาร์ทโฟนก็จะพบว่าตัว Pokémon ที่โปรแกรมสร้างขึ้นมาอยู่บริเวณใดบ้าง พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการสร้างตัวละครโดยการซ้อนทับตามภาพจริงที่แสดงผ่านสมาร์ทโฟนนั่นเอง 

ด้วยจุดเด่นของ AR นี้เอง ที่ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า หากนำมาปรับใช้ในมิติของธุรกิจก็น่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรียกว่าเป็นการสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจโดยการอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั่นเอง ซึ่งในขณะนี้ก็มีธุรกิจหลาย ๆ ประเภทเริ่มหันมาใช้ AR มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและโฆษณา ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบป้ายโฆษณาสำหรับติดตั้งตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่ลูกค้าต้องการประชาสัมพันธ์ ซึ่งข้อจำกัดที่เกิดขึ้นก็คือ การออกแบบแผ่นป้ายโฆษณาที่ไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้าและไม่สามารถทราบมุมมองของการติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาจนกว่าจะดำเนินการผลิตเรียบร้อย ทำให้การตัดสินใจของทั้งฝ่ายลูกค้าและผู้ผลิตล่าช้าไปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมีการนำเทคโนโลยีการออกแบบสมาร์ทโฟนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในจุดนี้ นอกจากจะทำให้ลูกค้าสามารถเห็นผลของการออกแบบป้ายโฆษณาแบบเสมือนจริงได้แล้วยังสามารถเปลี่ยนแปลงแบบได้ตามสภาพแวดล้อมที่ต้องการได้อีกด้วย 

ฉะนั้น ในมิติของธุรกิจที่สามารถนำ AR เข้ามาใช้ได้นี้เอง จะช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการที่จริงแท้ของผู้รับบริการได้อย่างตรงจุด และสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดและปัญหาแบบเดิม ๆ ได้ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การพัฒนา AR ในแต่ละธุรกิจก็จะมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าจะมุ่งเน้นไปที่การปรับใช้ในรูปแบบใดมากกว่า ระหว่างระบบการจัดการภายในบริษัทกับการมุ่งเน้นบริการที่เข้าถึงผู้บริโภค 

สีสันของ E-Commerce กับการผลักดันการตลาดด้วยเทคโนโลยี 

แน่นอนว่า ในมุมมองของ AR ที่มีต่อ E-Commerce หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นั้น นับว่ามีแนวโน้มที่จะเติบโตมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในมิติของการเข้าถึงการซื้อขายด้วยการใช้ AR มากระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภค ยกตัวอย่างก็คือ สำหรับการซื้อขายบ้านหรือคอนโด ผู้บริโภคจะสามารถใช้แอปพลิเคชันที่ถูกเขียนขึ้นมาสำหรับธุรกิจนั้น ๆ เพื่อชมสินค้าและตัวอย่างของห้อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่จริง แต่จะสามารถพิจารณาและตัดสินใจซื้อขายได้ง่ายขึ้นเพียงแค่ใช้ AR เท่านั้น ซึ่งก็น่าจะเหมาะกับคนที่ไม่อยากไปจุกจิกกับคนหลาย ๆ คน รวมไปถึงเซลล์ที่บางทีก็เชียร์ขายจนทำให้ไม่มีสมาธิในการตัดสินใจและวิเคราะห์ข้อมูล 

ในมิติของ E-Commerce นี้เอง สามารถนำ AR เข้ามาผลักดันด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดได้ด้วยเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องไปจัดอีเว้นท์หรืองานแสดงให้สิ้นเปลืองงบประมาณ แถมเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้เพียงแค่หยิบมือเท่านั้น ซึ่งการใช้ AR มาช่วยผลักดันการตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความตื่นเต้น และความน่าสนใจให้กับธุรกิจแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้เห็นภาพจริงผ่านการแสดงผลแล้ว ยังสามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนตามความต้องการได้ด้วยเช่นเดียวกัน สังเกตได้จากผลสัมฤทธิ์ของเกม Pokémon Go ที่สร้างกระแสได้อย่างท่วมท้นในช่วงที่ผ่านมา หรือแม้แต่ Burger King ที่ผลักดันการตลาดโดยการให้ลูกค้านำแอปพลิเคชันที่ให้บริการไปส่องตามป้ายบิลบอร์ดต่าง ๆ เพื่อนำไปแลกรับ Whopper ซึ่งการนำ AR มาช่วยในลักษณะดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างกิจกรรมให้เป็นกระแสไวรัลในสังคมแล้ว ยังช่วยให้สินค้าและบริการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องไปประกาศลงโฆษณาตามสื่อเหมือนแต่ก่อน เรียกว่าเป็นหนึ่งในสีสันของ E-Commerce ที่มาจากการพัฒนา AR ก็ว่าได้ 

อย่างไรก็ตาม การใช้ AR ในมิติของธุรกิจนั้น ยังคงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ยังไม่อาจนำมาใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าใดนักในขณะนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า ธุรกิจหลาย ๆ ส่วนเองก็เริ่มตื่นตัวและหันมาพัฒนาให้เข้ากับธุรกิจของตนเองมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว AR จะสัมฤทธิ์ผลในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งได้นั้น จะต้องอาศัยความชำนาญและการพัฒนาที่ต่อเนื่องเป็นหลัก และหากธุรกิจใดสามารถพัฒนา AR เพื่อนำมาใช้งานได้จริงแล้ว ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอนเลยก็คือ การเติบโตของธุรกิจที่ยืนหยัดได้ด้วยคุณภาพและเอกลักษณ์ที่แตกต่างไม่ซ้ำใคร