สำหรับการติดต่อสื่อสารนั้น นับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ต้องอาศัยการสื่อสารด้วยกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบไร้สายที่ได้คืบคลานเข้ามาเป็นกิ่งก้านสำคัญของเหล่ามวลมนุษยชาติ ชนิดที่ว่าไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้ ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจไม่ใช่น้อยว่า ท้ายที่สุดแล้วโลกในอนาคตจะสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดในด้านของการพัฒนาเทคโนโลยีได้มากแค่ไหน แล้วจริงหรือไม่ที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ จะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับเทคโนโลยีได้ดังคำพยากรณ์ที่ผู้นำประเทศหลายคนเคยกล่าวเอาไว้
วิวัฒนาการของเครือข่ายไร้สาย กับบทบาทด้านการสื่อสาร
หากจะกล่าวถึงเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยให้การสื่อสารสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการพูดคุยหรือแม้แต่การพบปะสังสรรค์กันแล้ว ก็คงจะต้องนึกถึงการเชื่อมต่อแบบไร้สาย หรือก็คืออินเทอร์เน็ต (Internet) อย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์แล้ว ยังนับว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
และเมื่อมีเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบไร้สายเกิดขึ้นแล้ว นั่นก็แสดงว่าการพัฒนาเครือข่ายที่ช่วยให้การเชื่อมต่อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่น้อย และหนึ่งในนั้นก็คือการพัฒนาเครือข่ายไร้สายตัวใหม่ล่าสุด ที่จะมายกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์จากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือก็คือ “5G” นั่นเอง ซึ่งหากลองไล่เรียงวิวัฒนาการของระบบการเชื่อมต่อแบบไร้สายแล้ว ก็คงจะพอเห็นถึง “เค้าลาง” ที่พัฒนาต่อ ๆ กันมาเหมือนตึกที่มีความสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่อาจคาดเดาจุดสิ้นสุดที่เป็นจุดจบได้
แน่นอนว่า การพัฒนาเครือข่าย 5G นี้ ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่และดูจะไม่ไกลตัวสักเท่าใดนัก เพราะหากไล่เรียงดูแล้วจะพบว่า การพัฒนาเครือข่ายไร้สายเริ่มต้นมาจริง ๆ ตั้งแต่ยุค 1G หรือก็คือยุคที่เป็นการติดต่อผ่านมือถือด้วยการโทรออกและรับสายเพียงเท่านั้น ในขณะที่ในยุค 2G ที่พัฒนาต่อมา ก็ถูกเพิ่มฟังก์ชันของการส่งข้อความได้แล้วแถมยังมีเกม “เจ้างูน้อย” ในโทรศัพท์รุ่นขาวดำให้เล่นจนติดเทรนด์ฮิตอีกด้วย
ในขณะที่ในยุคของ 3G กลับเป็นยุคที่ดูจะรุ่งเรืองและเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของเครือข่ายการเชื่อมต่อแบบไร้สายอย่างเห็นได้ชัด เพราะเริ่มมีการส่งข้อมูลผ่านรูปแบบของ “Data” อย่างเป็นทางการ ที่สำคัญ เป็นยุคที่เกิดสมาร์ทโฟนเป็นยุคแรก ๆ โดยเริ่มจาก iPhone มาจนถึงสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ที่เห็นวางขายอยู่ตามท้องตลาด เช่นเดียวกันกับยุค 4G ที่นับได้ว่าค่อนข้างเฟื่องฟูไม่ต่างกันกับยุค 3G เท่าใดนัก เพราะสามารถพัฒนาความเสถียรของเครือข่ายให้ตรงตามความต้องการของมนุษย์ได้มากกว่าที่หลาย ๆ คนคาดคิด ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ การชมวิดีโอระดับ 4K ได้แบบไม่มีสะดุด หรือแม้แต่การอัปโหลดไฟล์ที่ต้องการได้ในระยะเวลาไม่นาน ในขณะที่การรับส่งข้อมูลก็ยังทำงานได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด
และสำหรับยุคที่คาดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ด้านเทคโนโลยีแบบตลอดกาลนั้น ก็คือยุคที่เรียกกันว่า 5G นั่นเอง เพราะจะเป็นการพัฒนาเครือข่ายที่สามารถเชื่อมต่อกับทุกสรรพสิ่งได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพียงแค่มีตัวรับ-ส่งสัญญาณก็เพียงพอ ที่สำคัญคือ จะเป็นยุคที่วิถีชีวิตของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ชนิดที่ว่า “อะไรที่ทำเป็นประจำ” ก็จะกลายเป็น “สิ่งที่ไม่ต้องทำด้วยตัวเอง” อีกต่อไป
การสร้างโลกอนาคต ด้วยนวัตกรรมการเชื่อมต่อที่ไร้ขีดจำกัด
เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เวลาไปดูภาพยนตร์เกี่ยวกับโลกอนาคตแล้ว มักจะเกิดความถวิลหาความก้าวหน้าเหมือนกันกับภาพยนตร์ โดยเฉพาะชีวิตที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ไร้ขีดจำกัด แน่นอนว่า สิ่งที่กล่าวมานั้นอาจจะดู “เพ้อฝัน” และ “ไม่อาจเป็นจริงได้” ในมุมมองของใครหลาย ๆ คน ซึ่งหากเทียบแล้วก็คงจะเหมือนกับยุคที่ยังไม่มีคำว่า “โทรศัพท์มือถือ” หรือแม้แต่ “เพจเจอร์” สักเท่าไหร่นัก เพราะในขณะนั้นเองก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าสิ่งที่คิดนั้นช่าง “ฝันกลางวันสิ้นดี” ให้ตอบคำถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันยังจะง่ายเสียกว่า ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคำว่า “ฝันกลางวัน” ที่หลายคนปรามาศไว้ในครานั้น ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่สำเร็จแล้วในขณะนี้ แถมยังมีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของมนุษย์หลายคนไม่ใช่น้อย และก็คงไม่ใช่เรื่องที่ “เหนือจินตนาการ” สักเท่าไหร่นัก หากในอนาคตโลกจะมีแต่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเหมือนในภาพยนตร์ที่เคยดูมาก่อน
ซึ่งหากลองนึกภาพว่าโลกแห่งอนาคตที่คิดภาพเอาไว้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้น ก็ยังคงไม่อาจการันตีได้ แต่ก็พอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบง่าย ๆ เลยก็คือ การพัฒนาให้รถยนต์ส่วนตัวสามารถขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติได้ โดยที่มีเจ้าของเป็นผู้กำหนดและสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนไปพร้อม ๆ กับการจิบกาแฟระหว่างการเดินทางไปทำงานในเช้าที่แสนสดใส หรืออาจจะเป็นตู้เย็นที่พอมีเนื้อหมูใกล้หมดอายุแล้ว ก็จะขึ้นการแจ้งเตือนบนหน้าจอสมาร์ทโฟนโดยที่คุณยังนอนเล่นเกมอยู่บนที่นอนอย่างสบายใจอยู่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่การเชื่อมต่อไร้สายในโลกอนาคตจะทำได้ เพราะแท้ที่จริงแล้วยังมีความสามารถอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าของโลกใบนี้ให้ล้ำสมัยมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือก็คือการผนวกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอินเทอร์เน็ต เพื่อให้มนุษย์สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างที่ใจคิดโดยไม่มีข้อจำกัดอื่นใดอีกต่อไป
มุมมองของโลกอนาคต กับการผลักดัน IoT
จริงอยู่ที่ว่าในอนาคตการพัฒนาเครือข่ายไร้สายอย่างอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ 5G ขึ้นไป นับเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะไม่ได้หยุดที่ 5G ก็ได้ เพราะอาจจะพุ่งขึ้นเป็นตระกูล G อื่น ๆ เช่น 6G 7G หรืออาจจะมีชื่อเรียกใหม่ ๆ ก็ไม่อาจล่วงรู้ได้เช่นเดียวกัน แต่ที่ดูแล้วจะสำคัญไม่ใช่น้อยเลยก็คือการผลักดันให้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวมนุษย์ ให้สามารถผสานเข้ากับเครือข่ายไร้สายได้ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า IoT นั่นเอง
สำหรับ IoT (Internet of Thing) หรือ “อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง” นั้น อธิบายให้เข้าในแบบง่าย ๆ เลยก็คือ การที่อุปกรณ์ต่าง ๆ หรือสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายไร้สาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน รถยนต์ ของใช้ภายในบ้าน รองเท้า อุปกรณ์ทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน หรือแม้แต่สิ่งของที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ซึ่งในอนาคตอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ จะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายไร้สายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน นั่นเอง
แน่นอนว่า การพัฒนาให้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวสามารถควบคุมผ่านเครือข่ายไร้สายได้นั้น หลัก ๆ จะต้องอาศัยการพัฒนาระบบเครือข่ายให้พร้อมต่อการตอบสนองและรับส่งสัญญาณได้ดีที่สุด ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการว่าจะพัฒนาหรือก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีได้มากแค่ไหน ในขณะเดียวกันนักพัฒนาระบบหรือโปรแกรมเมอร์ ตลอดจนผู้ผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ เอง ก็ต้องพัฒนาให้อุปกรณ์เหล่านั้นรองรับการเชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
ทั้งนี้ การพัฒนา 5G หรือแม้แต่เครือข่ายไร้สายอื่น ๆ ในอนาคต ก็นับว่าสำคัญไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาเสถียรภาพของการเชื่อมต่อในอนาคตแล้ว ยังสำคัญต่อการพัฒนาให้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวมนุษย์เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ชนิดที่ว่าต่อไปอาจจะไม่ต้องขับรถด้วยตัวเองเพราะสามารถควบคุมผ่านระบบ 5G ซึ่งตอบสนองได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับขับขี่ด้วยตัวเอง แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในยุคสมัยนี้ก็อาจจะยังเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้เหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่ต้องการควบคุมนั้นต้องอาศัย “ความสเถียร” และ “ความรวดเร็ว” มากน้อยเพียงใด หากแค่สั่งการเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น เช็กของในตู้เย็น สั่งเปิด-ปิด ไฟภายในห้องนอน ก็อาจจะแค่เชื่อต่อกับอินเทอร์เน็ตทั่วไปก็เพียงพอ แต่หากเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมโดยอาศัย “ความรวดเร็ว” และ “การตอบสนอง” เพื่อ “คงความปลอดภัย” เป็นหลัก เช่น การบังคับรถขนส่งสินค้า การบังคับเรือโดยสาร ก็อาจจะต้องเป็นการใช้สัญญาณตั้งแต่ 5G ขึ้นไป เพราะสามารถตอบสนองและสั่งการได้ในทันทีทันใด เสมือนว่ามีคนไปนั่งควบคุมอยู่เลยทีเดียว
เช่นเดียวกับการพัฒนาความก้าวหน้าของโลกอนาคต ที่จะต้องอาศัยการเชื่อมต่อและประสิทธิภาพของเครือข่ายไร้สายแบบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในอนาคตองค์กรหรือแม้แต่นานาอารยประเทศจะสามารถร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้ IoT เกิดขึ้นจริงได้มากน้อยแค่ไหน แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจะสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดบางสิ่งบางอย่างได้หรือไม่ ตั้งแต่ความสามารถในการกระจายสัญญาณที่ไม่ใช่เพียงแค่ในเมืองหลวงเท่านั้น หากแต่ต้องกระจายสู่ชนบทหรือพื้นที่ห่างใกล้ให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น เพราะในการพัฒนาเครือข่ายนั้น จะต้องอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นตัวแปรของเครือข่ายสัญญาณที่เอื้อต่อการสัมฤทธิ์ผลด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Sensor node, Wireless Sensor Network, แสง, อุณหภูมิ หรือแม้แต่ความดันอากาศ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้เครือข่าย 5G หรือแม้แต่เครือข่ายอื่น ๆ ที่มีประสบผลสำเร็จนั้น จริงอยู่ที่ว่ามันอาจจะเกิดขึ้นจริงได้ในโลกอนาคตอันใกล้นี้ แต่ก็อย่าลืมว่าท้ายที่สุดแล้วก็ยังต้องมีตัวแปรอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากความสามารถในการพัฒนาเครือข่ายหรือแม้แต่ Hardware ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากลองพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ก็จะเห็นได้ว่าข้อจำกัดที่ดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ก็คงจะหนีไม่พ้น “ความขัดแย้ง” ของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ยังคงไม่สามารถหาทางลงรอยกันได้ในเรื่องของการพัฒนาเครือข่าย แถมดูท่าแล้วจะยังเป็นเรื่องที่ยังคง “คาราคาซัง” อยู่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว