What exactly is AI, ML or DL?

2441
creativity and artificial intelligence.

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน จะทำอะไร ก็มักจะได้ยินข่าวคราวความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตแทบจะทั้งสิ้น แถมบางครั้งก็มักเกิดกระแสว่าในอนาคตมนุษย์จะไม่มีบทบาทอีกต่อไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสามารถถูกควบคุมได้เพียงแค่ใช้เทคโนโลยี AI เท่านั้น ดังนั้น มาลองทำความรู้จักกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า AI แล้วมาให้คำตอบว่าสิ่งที่มนุษย์หลายคนจินตนาการขึ้นนั้น จะจริงมากน้อยแค่ไหน 

หน้าที่ของ AI กับการต่อยอดสู่ ML และ DL 

สำหรับเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปัญญาประดิษฐ์” นั้น นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่คล้ายกับมนุษย์ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักร (Machine) ซึ่งหากลองดูความสามารถที่ AI ทำได้แล้ว ก็คงจะไม่ต่างจากการโคลนนิ่งมนุษย์สักเท่าไหร่ แต่จะมีความสามารถมากกว่าก็ตรงที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของแรงงานเหมือนกับมนุษย์ 

เช่นเดียวกันกับในกรณีของการเล่นเกมโก๊ะระหว่าง AlphaGo ที่สร้างขึ้นมาจาก AI กับมนุษย์ที่เป็นแชมป์อันดับหนึ่งของโลก จะสังเกตได้ว่า หากให้มนุษย์เรียนรู้วิธีการเล่นและฝึกฝนจนกว่าจะชำนาญ ต้องใช้เวลาไม่ใช่น้อย อย่างต่ำก็คงจะเป็นปีก่อนที่จะขึ้นมาเป็นเซียนในการเล่นเกมนี้ได้ แต่เมื่อให้ AI มาเรียนรู้ กลับกลายเป็นว่าสามารถเรียนรู้วิธีการเล่นและกฎกติกาของเกมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเรียนรู้และศึกษาทักษะของคู่แข่งในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งก็สามารถคว้าชัยชนะมาจากแชมป์ระดับโลกได้อย่างงดงาม 

ด้วยความก้าวหน้าของ AI ที่เปรียบเสมือนกับการเป็นมนุษย์คนหนึ่งนี้เอง ที่ทำให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถให้ก้าวข้ามมนุษย์ขึ้นไปอีกขั้น นั่นก็คือ ML (Machine Learning) โดยเป็นการสอนให้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรสามารถเรียนรู้ได้เพียงแค่ใช้ข้อมูลเท่านั้น หากเทียบกับมนุษย์ AI ก็เป็นเหมือนมนุษย์หนึ่งคนที่มีระบบความคิด มีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความสามารถที่มนุษย์มีโดยทั่วไป ซึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นก็คือ ML ที่มีความคล้ายคลึงกับสมองที่สามารถเรียนรู้ได้จากข้อมูลในหนังสือ เช่นเดียวกับ AI ที่สามารถสร้างกลไกการเรียนรู้ของ ML ขึ้นมานั่นเอง 

ในขณะเดียวกัน AI ก็ไม่ได้หยุดการพัฒนาเพียงเท่านี้ เพราะถึงแม้จะสามารถพัฒนาให้เกิด ML ขึ้นได้แล้ว ก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถเรียนรู้ในเชิงลึกได้เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ DL (Deep Learning) ซึ่งความสามารถของ DL นั้น ก็คือระบบการเรียนรู้เชิงลึกโดยการใช้โครงข่ายใยประสาทเหมือนกับมนุษย์ หรือวิธีที่เรียกว่า ANN (Artificial Neural Networks) โดยการทำงานนั้น ก็คือการสร้างเส้นใยของระบบประสาทให้สามารถสื่อสารหากันได้ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจข้อมูลที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่มีขีดจำกัด เหมือนกับมนุษย์ที่ใช้ระบบประสาทในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเรียนรู้ข้อมูลในเชิงลึกได้อย่างแยบยล 

ขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี ระหว่าง Machine Learning กับ Deep Learning

แน่นอนว่า จุดเด่นของ AI นั้น จะสามารถสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้ดีขึ้นได้ แต่ก็จะต้องขึ้นอยู่กับการนำมาปรับใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การใช้ ML ในการทำนายสภาพภูมิอากาศที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างอัตโนมัติ สิ่งที่จะต้องมีให้ ML ก็คือการนำข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปให้ ML เรียนรู้แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นค่าสถิติและแนวโน้มของภูมิอากาศที่อาจจะเกิดขึ้น แต่หากเป็นในมิติที่ใช้ DL แทน ก็จะกลายเป็นว่า โปรแกรมที่เขียนขึ้นมาสามารถดึงข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ได้อย่างทันทีและทันใด หลังจากนั้นก็จะนำข้อมูลที่นำมาไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปนั่งป้อนข้อมูลเพื่อให้โปรแกรมประมวลผลออกมา ผลที่แสดงออกมานั้นมีความละเอียดและลึกซึ้งมากกว่าขีดความสามารถที่ ML ทำได้นั่นเอง เช่น อาจจะวิเคราะห์ผลแล้วกระจายข้อมูลในรูปแบบของ Smart Contract ได้ทันที เป็นต้น 

หากลองวิเคราะห์จากการทำงานและความสามารถที่ทั้ง ML และ DL สามารถทำได้นั้น จะเห็นได้ว่าหากมนุษย์ต้องการเพิ่มขีดความสะดวกสบายและรวดเร็วให้มากที่สุด ก็จะต้องใช้ DL ในการวิเคราะห์ข้อมูลแทน เพราะจะมีความแม่นยำและความรวดเร็วที่มากกว่า ถึงแม้จะใช้ชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลก็ตาม แต่ข้อจำกัดของ DL นั้น กลับกลายเป็นว่าต้องใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เพียงพอต่อการทำงานของระบบและการได้มาซึ่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ 

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในอนาคต AI จะไม่สามารถทำได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว นักพัฒนาก็จะต้องหาแนวทางที่จะพัฒนาเพื่อให้เทคโนโลยีเดินหน้าได้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน เพียงแต่จะต้องใช้เวลาและการทดลองที่เป็นรูปเป็นร่างมากกว่านี้ เพื่อพัฒนาให้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาอำนวยความสะดวกและพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้นั่นเอง 

การปรับตัวของมนุษย์ กับการอยู่ร่วมกับ AI 

ในโลกอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะเดินทางมาถึงนี้ AI จะเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่มนุษย์กำลังเป็นกังวลและกลัวมากที่สุดก็คือความสามารถของ AI ที่อาจจะมาแทนมนุษย์ เรียกว่ามาทำหน้าที่เป็นพลเมืองของโลกเลยก็ว่าได้ และหากลองดูจากการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรมแล้ว จะเห็นได้เลยว่าแนวโน้มที่ AI จะมาทำหน้าที่แทนมนุษย์นั้นมีหลายด้านไม่ใช่น้อย และก็ดูท่าแล้วว่าอาจจะเป็นจริงเสียด้วย 

โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือ หากลองไล่เรียงดูจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีแล้ว จะเห็นได้เลยว่ามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมโลกพอสมควรเช่นเดียวกัน เรียกว่า แทบจะเป็นวัฏจักรที่หมุนเวียนอยู่เป็นเนืองนิตย์เลยก็ว่าได้ และจากการศึกษานั้น พบว่า “การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้สร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่มากกว่าตำแหน่งงานที่ถูกทำลายหายไป” ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าแม้เทคโนโลยีจะถูกพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปมากแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่จะตามมาก็คือโครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย 

ถึงแม้ AI จะเปรียบเสมือนมนุษย์หนึ่งคน แต่ก็อย่าลืมว่านั่นคือเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น สิ่งที่เทคโนโลยียังไม่อาจก้าวข้ามได้ก็ยังมีอยู่เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับ “คน” ยกตัวอย่าง หากให้ AI มานั่งเขียนบทกวีก็อาจจะทำได้ในมิติหนึ่ง แต่ความสามารถของมนุษย์ที่มีมากกว่าก็คือการเพิ่มความแยบยลโดยใช้ศิลปะทางอารมณ์ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า AI จะทำงานโดยใช้การคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์โดยใช้กระบวนการของเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยู่ในตัว AI ก็คือเรื่องของสถิติ ตัวเลข โปรแกรม และอัลกอริทึม ที่สร้างขึ้นมาในลักษณะ “ความน่าจะเป็น” และ “ความถูกต้อง” ในขณะที่มนุษย์จะมีความอ่อนไหวและโอนอ่อน ไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนกับเทคโนโลยี 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยี AI จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยสร้าง Machine Learning กับ Deep Learning ขึ้นมาได้ แต่ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าขีดความสามารถของนักพัฒนาระบบจะพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง และถึงแม้ AI จะเข้ามาทำหน้าที่บางอย่างแทนมนุษย์ได้จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ก็จะต้องปรับตัวและศึกษาความเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอเช่นเดียวกัน ไม่ใช่จะคิดเพียงว่าหาก AI เข้ามา จะทำให้ตนเองเดือดร้อนเพียงอย่างเดียว เพราะจริง ๆ แล้ว มิติของ AI ยังมีความลุ่มลึกและน่าสนใจอีกไม่ใช่น้อย ที่รอให้มนุษย์ศึกษาและพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อสังคมโลก